BANPU เล็งขยายกำลังผลิตเหมืองเกาเหอในจีนรองรับโรงไฟฟ้าแห่งใหม่

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday November 12, 2014 13:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชนินท์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. บ้านปู (BANPU) เปิดเผยถึงแผนงานโครงการที่บริษัทฯ กำลังพัฒนาเพื่อขยายธุรกิจในสาธารณรัฐประชาชนจีนว่า เป็นการขยายกำลังการผลิตที่เหมืองเกาเหอ ซึ่งได้รับปัจจัยบวกจากความต้องการถ่านหินในประเทศจีนที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ผนวกกับบริษัท Banpu Power International (บ้านปู พาวเวอร์) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบ้านปูฯ ได้ลงนามในสัญญาร่วมทุนเพื่อศึกษาและร่วมพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้า Shanxi Lu Guang ภายใต้สัญญานี้ บ้านปู พาวเวอร์ ถือหุ้นร้อยละ 30 ร่วมกับบริษัท Shanxi Lu'an Mining Group และบริษัท Gemeng International Energy Co., Ltd.

โครงการโรงไฟฟ้า Shanxi Lu Guang เป็นโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ขนาด 1,200 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในมณฑลซานซี สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยจะใช้เทคโนโลยีการผลิตแบบ Ultra-super critical ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยใช้เชื้อเพลิงถ่านหินน้อยลง แต่มีประสิทธิภาพหม้อไอน้ำและความร้อนสูง อีกทั้งยังช่วยลดมลภาวะ ทั้งนี้โครงการโรงไฟฟ้าแห่งนี้ซึ่งได้รับการอนุมัติเบื้องต้นจากหน่วยงาน Shanxi Provincial Development and Reform Commission ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนา รายละเอียดบางประการของโครงการอาจจะมีการเปลี่ยนแปลง

สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าหงสา ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าปากเหมืองในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีความคืบหน้าตามแผนงานที่วางไว้ตามกำหนด จะเริ่มดำเนินการผลิตกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์จากหน่วยผลิตแรกประมาณกลางปี 2558 ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีหน่วยผลิตทั้งหมด 3 หน่วย มีขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 1,878 เมกะวัตต์ และมีปริมาณการผลิตที่จำหน่ายได้รวมทั้งสิ้น 1,653 เมกะวัตต์

ส่วนผลประกอบการในไตรมาส 3/57 บริษัทมีกำไรจากผลการดำเนินงานสะท้อนถึงการผลิตและการบริหารต้นทุนที่มีประสิทธิภาพในสภาวะที่ราคาตลาดถ่านหินไม่เอื้ออำนวยนัก อย่างไรก็ตาม กำไรในส่วนที่ไม่ได้เกิดจากผลประกอบการได้รับผลกระทบทางบัญชีจากการประกาศยกเลิกภาษีสินแร่ MRRT (Mineral Resource Rent Tax: MRRT) โดยรัฐบาลออสเตรเลีย ส่งผลให้ในไตรมาสนี้มีการกลับรายการภาษีจำนวน 24 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 778 ล้านบาท) ซึ่งเป็นรายการที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว และจะไม่ส่งผลกระทบต่อกระแสเงินสดแต่อย่างใด

บริษัทมีรายได้จากการขายรวมจำนวน 852 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 27,345 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 43 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1,869 ล้านบาท) หรือคิดเป็นร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน รายได้จากการจำหน่ายถ่านหินจำนวน 816 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 26,190 ล้านบาท) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 96 ของรายได้จากการขายรวม สำหรับรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้า ไอน้ำและอื่นๆ คิดเป็นร้อยละ 4 ของรายได้รวม หรือเป็นจำนวน 36 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1,155 ล้านบาท) ในไตรมาส 3/2557 บ้านปูฯ มีปริมาณขายถ่านหินจำนวน 12.42 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 16 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยบวกจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณขายถ่านหินของเหมืองในออสเตรเลีย 1.46 ล้านตัน และเหมืองในอินโดนีเซียเพิ่มขึ้น 0.23 ล้านตัน

"การดำเนินธุรกิจถ่านหินของบ้านปูฯ มีผลการดำเนินงานที่ดีทั้งจากแหล่งผลิตในอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และจีน โดยมีปริมาณการขายถ่านหินที่สูงขึ้นจากแหล่งผลิตทั้งในออสเตรเลียและอินโดนีเซีย ผนวกกับการบริหารจัดการต้นทุนการผลิตที่มีประสิทธิภาพที่เหมืองเกาเหอในสาธารณรัฐประชาชนจีน ในส่วนของธุรกิจไฟฟ้านั้น โรงไฟฟ้าบีแอลซีพีในประเทศไทย รายงานส่วนแบ่งกำไรจำนวน 17 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 546 ล้านบาท) ขณะที่ธุรกิจไฟฟ้าในสาธารณรัฐประชาชนจีนรายงานกำไรสุทธิในระดับที่ดีต่อเนื่องจำนวน 3.15 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 101 ล้านบาท)"นายชนินท์กล่าว

ด้านผลการดำเนินงานของธุรกิจถ่านหินในอินโดนีเซีย มีปริมาณขายถ่านหินที่เติบโตต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 16 จากไตรมาสก่อนหน้า หรือคิดเป็นจำนวน 7.74 ล้านตันสำหรับไตรมาส 3/2557 โดยปริมาณขายจากทุกแหล่งปรับตัวสูงขึ้นโดยเฉพาะที่เหมืองอินโดมินโคและเหมืองทรูบาอินโด ซึ่งรายงานปริมาณขายจำนวน 4.07 ล้านตัน และ 1.81 ล้านตัน ตามลำดับ

ขณะที่ธุรกิจถ่านหินในออสเตรเลีย บ้านปูฯ เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อลดต้นทุนการผลิตโดยเฉลี่ย ควบคู่ไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพการขายและบริหารสัดส่วนการจำหน่ายในประเทศและส่งออกต่างประเทศ โดยผลิตและจัดส่งถ่านหินที่มีคุณภาพที่ตอบสนองกับความต้องการของลูกค้า ในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ทั้งในส่วนของเหมืองแมนดาลองและเหมืองแองกัส เพลส ได้รายงานปริมาณการผลิตที่ปรับสูงขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2557 โดยคิดเป็นปริมาณการผลิต 2.1 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 72 จากเหมืองแมนดาลอง และ 1.2 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 92 จากเหมืองแองกัส เพลส

นอกจากนี้ ธุรกิจถ่านหินในออสเตรเลียยังได้รายงานปริมาณขายที่ปรับเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 44 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว โดยมีปัจจัยบวกมาจากปริมาณการขายและราคาถ่านหินที่จำหน่ายในประเทศซึ่งช่วยลดผลกระทบจากราคาขายถ่านหินที่ลดลงของตลาดส่งออก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ