THAI เผย Q3/57 กำไร FX ช่วยพลิกฟื้นพ้นขาดทุน แม้ธุรกิจซบตามท่องเที่ยว

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday November 13, 2014 17:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พลอากาศเอก ศิวเกียรติ์ ชเยมะ รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินไทย(THAI) เปิดเผยว่า ในไตรมาส 3/57 บริษัทและบริษัทย่อยขาดทุนก่อนกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนและภาษีเงินได้ ไม่รวมผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ จำนวน 5,237 ล้านบาท เมื่อรวมผลขาดทุนดังกล่าวกับผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์และเครื่องบินอีก 1,220 ล้านบาท แต่มีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ 7,379 ล้านบาท ทำให้มีกำไรก่อนภาษี 922 ล้านบาท โดยมีกำไรสุทธิ 1,097 ล้านบาท ในขณะที่ปีก่อนขาดทุนสุทธิ 6,182 ล้านบาท โดยเป็นกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 1,086 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 0.50 บาท เปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนซึ่งขาดทุนต่อหุ้น 2.84 บาท

สำหรับงวด 9 เดือนแรกของปี 57 บริษัทและบริษัทย่อยขาดทุนสุทธิ 9,177 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2,864 ล้านบาท โดยเป็นขาดทุนสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 9,211 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุนต่อหุ้น 4.22 บาท เปรียบเทียบกับปีก่อนที่ขาดทุนต่อหุ้น 2.91 บาท

ณ วันที่ 30 ก.ย.57 บริษัทและบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 310,243 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากวันที่ 31 ธ.ค.56 จำนวน 3,158 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.0 หนี้สินรวมของบริษัทฯ และบริษัทย่อย เท่ากับ 262,552 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ณ วันที่ 31 ธ.ค.56 จำนวน 12,386 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.0 และส่วนของผู้ถือหุ้นมีจำนวน 47,691 ล้านบาท ลดลงจากวันที่ 31 ธ.ค.56 จำนวน 9,228 ล้านบาท

พลอากาศเอก ศิวเกียรติ์ กล่าวว่า ในช่วงไตรมาส 3/57 ที่ผ่านมาเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ขยายตัวในอัตราที่ต่ำกว่าที่คาดการณ์ ในส่วนอุตสาหกรรมการบินทั่วโลกยังคงมีการขยายตัว ถึงแม้ว่าต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่มีผลต่อความต้องการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยว และความเชื่อมั่นในการเดินทางด้วยเครื่องบิน สำหรับภาคการท่องเที่ยวของไทยได้รับผลดีจากการส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐ เช่น การยกเว้นค่าธรรมเนียมการลงตราสำหรับนักท่องเที่ยวจีนและจีนไทเป เป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 9 ส.ค.57

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าความมั่นใจต่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวจะดีขึ้นกว่าช่วงที่ผ่านมา แต่ยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ประกอบกับ ยังอยู่ในระหว่างการประกาศใช้กฎอัยการศึก จึงส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศยังต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่อุตสาหกรรมการบินในประเทศยังมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง มีความรุนแรงในการแข่งขันด้านราคามากขึ้นโดยเฉพาะสายการบินต้นทุนต่ำ ที่มีการขยายฝูงบินเพิ่มขึ้น และมีการเปิดเส้นทางบินใหม่ๆ เพิ่มขึ้น รวมทั้งมีสายการบินต้นทุนต่ำเปิดใหม่

จากสถานการณ์ภายในประเทศเองที่ยังไม่ฟื้นตัวเป็นปกติ ประกอบกับการแข่งขันที่รุนแรงดังกล่าว ส่งผลให้บริษัทฯ มีจำนวนผู้โดยสารลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนถึงร้อยละ 12.5 ถึงแม้ว่าบริษัทฯ ได้มีการปรับลดเที่ยวบินให้สอดคล้องกับปริมาณการเดินทางของผู้โดยสารที่ลดลงแล้วก็ตาม โดยในไตรมาสนี้บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีปริมาณการผลิตผู้โดยสาร(Available Seat - Kilometer: ASK) ลดลงร้อยละ 4.8 แต่ปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร(Revenue Passenger - Kilometer: RPK) ลดลงในอัตราที่สูงถึงร้อยละ 10.1 และมีอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ยร้อยละ 71.1 ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนซึ่งเฉลี่ยร้อยละ 75.3 ทำให้รายได้จากการขายหรือการให้บริการ ลดลงถึง 4,853 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.6


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ