พร้อมกันนั้น บริษัทยังอยู่ระหว่างศึกษาการนำบริษัทร่วมทุน คือ บริษัท เนเจอร์เวิร์ค เอเชียแปซิฟิค จำกัด เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐเพื่อระดมทุนมาใช้ขยายธุรกิจไบโอพลาสติกในประเทศไทย
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ PTTGC เปิดเผยถึงกลยุทธ์การเติบโตของบริษัทว่า พร้อมพัฒนาประสิทธิภาพธุรกิจปิโตรเคมี–เคมีภัณฑ์ ที่เป็นธุรกิจหลักและมีความชำนาญอยู่แล้วให้เติบโตบนฐาน Organic Growth รอบคอบในการลงทุนและสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยเน้นสมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจ – สังคม – สิ่งแวดล้อม เพื่อให้ธุรกิจสามารถสร้างผลตอบแทนและดูแลผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder) ทั่วทุกกลุ่ม และรองรับตลาดในประเทศอาเซียน
ปัจจุบัน PTTGC เป็นผู้ผลิตปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่มีความหลากหลายมากถึง 7 กลุ่มธุรกิจ โดยขณะนี้มีโครงการที่แล้วเสร็จและสามารถสร้างรายได้แล้ว คือ การขยายกำลังการผลิตบิวทาไดอีนและบิวทีน-1 รวม 100,000 ตันต่อปี
สำหรับโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการและจะแล้วเสร็จในปี 2015 ประกอบด้วย 3 โครงการหลัก คือ 1) การขยายกำลังการผลิตฟีนอล อีก 250,000 ตันต่อปี 2) การปรับปรุงประสิทธิภาพ (Plant Improvement) โรงงานทีโอซี ไกลคอล (TOCGC) เพิ่มการผลิต EO อีก 90,000 ตันต่อปี 3) การขายกำลังการผลิตของโรงงานอะโรเมติกส์ 2 เพื่อเพิ่มการผลิตพาราไซลีน อีก 115,000 ตันต่อปี โดยทั้ง 3 โครงการมีเป้าหมายแล้วเสร็จในไตรมาส 3-4 ปี 58
ส่วนปีหน้าบริษัทก็มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นราว 4-5 แสนตัน/ปี ได้แก่ การขยายกำลังการผลิตฟีนอลอีก 2.5 แสนตัน/ปี การปรับปรุงประสิทธิภาพโรงงานทีโอซีไกลคอล (TOCGC) เพิ่มกำลังการผลิต EO อีก 90,000 ตัน/ปี และการขยายกำลังการผลิตของโรงงานอะโรเมติกส์ 2 เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตพาราไซลีนอีก 115,000 ตัน/ปี โดยทั้ง3โครงการมีเป้าหมายเสร็จในไตรมาส 3-4 ปี58 นอกจากนี้มีงบลงทุนปกติในปี 58 จำนวน 7-8 พันล้านาบท
"กลยุทธ์การเติบโตของบริษัท คือ การสร้างความแข็งแกร่งในธุรกิจปัจจุบันที่จะมีกำลังการผลิตเพิ่มเข้ามาอีก 4-5 แสนตัน/ปีในปี 58 และการขยายการลงทุนต่อเนื่องในธุรกิจเดิมแต่ลงทุนในพื้นที่ใหม่ ได้แก่ อินโดนีเซีย สหรัฐ รวมทั้งการลงทุนในธุรกิจสีเขียว และการลงทุนผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยได้เตรียมงบลงทุนไว้ 4.5 พันล้านเหรียญในช่วง 5 ปี(ปี 58-62) ทั้งหมดนี้จะช่วยผลักดันให้กำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย(EBITDA) เติบโตเฉลี่ยปีละ 20-30%ในช่วง 5 ปีนี้ พร้อมเป็นบริษัทติดอันดับต้นๆในเอเชียซึ่งปัจจุบัน PTTGC ใหญ่เป็นอันดับ 6 รองจากบริษัทจากจีนและเกาหลี และเป็นบริษัทที่เติบโตอย่างยั่งยืน"
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวถึงทางด้านการลงทุนต่างประเทศว่า การลงทุนโครงการปิโตรคอมเพล็กซ์ร่วมกับเปอตามีน่าในอินโดนีเซียคาดว่า จะได้ข้อสรุปหรือผลการศึกษาความเป็นไปได้โครงการ(Final Fesibility) ในปลายปี 58 เพราะรอทางเปอตามีน่าหาพันธมิตรในการขยายโรงกลั่น 1.2แสนบาร์เรล/วัน เพิ่มป็น 3.2แสนบาร์เรล/วัน โดยมีขนาดกำลังการผลิต 1.5 ล้านตัน/ปี งบลงทุน 5 พันล้านเหรียญ
และการร่วมลงทุนกับพันธมิตรสหรัฐที่จะลงทุนโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในสหรัฐโดยใช้ shale gas เป็นวัตถุดิบ โดยมีขนาดกำลังการผลิต 1 ล้านตันปี คาดว่าจะสรุปผลการเจรจาได้ในช่วงกลางปี 58 หากสำเร็จจะใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี แต่ยังประเมินมูลค่าโครงการแต่แนวโน้มมูลค่าการลงทุนสูงกว่าในพบเอเชีย
นอกจากนั้น คาดว่า ปี 58 จะได้ข้อสรุปการร่วมลงทุนกับ Sino Chem ของจีน ในการร่วมลงทุนปลิตโพลียูริเทน โดยใช้ฐานการผลิตที่จีน
"กลยุทธ์เราจะขยายธุรกิจต่อเนื่องในพื้นที่ใหม่ แต่ในธุรกิจที่เราชำนาญคือในอินโดนีเซียที่ยังมีความต้องการผลิตภัณฑ์สูง... แม้เราจะมีความชำนาญมา 30 ปีแต่ก็ยังต้องการมีพาร์ทเนอร์ทั้งในอินโดนีเซีย จีนและสหรัฐ" นายสุพัฒนพงษ์ CEO คนใหม่กล่าว
ขณะเดียวกันการลงทุนธุรกิจสีเขียวได้แก่การลงทุนไบโอพลาสติก ที่บริษัทลงทุนผ่านบริษัท Nature Work ที่ร่วมทุนกับบริษัท Cargill ฝ่ายละ 50% และบริษัทได้หารือกับ Cargill ที่ศึกษานำ Nature Work เข้าตลาดหุ้นในสหรัฐซึ่งจะมีการรับโครงสร้างธุรกิจซึ่งจะทำให้ Nature Work มีเทคโนโลยีครบวงจรที่จะนำมาใช้ผลอตไบโอพลาสติก ทั้งนี้จะนำเงินที่ระดมทุนจากการขายหุ้น IPO มาลงทุนโรงงานไบโอพลาสติกในไทยต่อไป
สำหรับผลประกอบการในปีนื้ นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า บริษัทยังคาดว่า EBITDA Margin ไม่รวมผลขาดทุนจากสต๊อกน้ำมัน ปีนี้อยู่ที่ 11% ใกล้เคียงปีก่อน แม้ว่า 3 ไตรมาสที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากโรงแยกก๊าซ 5 ของบมจ.ปตท. (PTT) ยังไม่เปิดดำเนินการ และเพิ่งเปิดดำเนินการในไตรมาส 4 นี้ จะทำให้ผลประกอบการในไตรมาส 4 นี้น่าจะดีขึ้น รวมทั้งราคาเม็ดพลาสติกHDPE ยังอยู่ระดับสูง และมีสเปรดราคาสูงที่800เหรียญ/ตัน ส่วนราคาพาราไซลีนน่าจะพ้นจุดต่ำสุดแล้ว
อย่างไรก็ตาม ในไตรมาส 4 นี้ยังกังวลผลขาดทุนสต็อกน้ำมัน ที่ราคาน้ำมันดิบดูไบปรับตัวลงไปมากโดยสิ้นไตรมาส 3/57อยู่ที่ 95 เหรียญ/บาร์เรล จากต้นไตรมาส 3/57 ราคาอยู่ที่ 108 เหรียญ/บาร์เรล ซึ่งก็ต้องรอติดตามผลประชุมโอเปคว่าจะงดกำลังการผลิตหรือไม่ ซึ่งเห็นว่าเป็นผลกระทบระยะสั้น แต่ในระยะยาวคาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบไปที่ 90-100เหรียญ/บาร์เรล
"ถ้าเกิดขาดทุนสต็อกในปีนี้ก็เป็นผลขาดทุนทางบัญชี แต่ปีหน้าคาดว่าจะรีเทิร์นเป็นบวก"
ส่วนแผนการควบรวมกิจการกับบมจ.ไออาร์พีซี( IRPC) นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ได้อยู่ในแผนกลยุทธ์ แต่บริษัทมีแผนและตั้งเป้าหมายที่จะเติบโตอย่างแข็งแกร่งและเชื่อว่าต่างคนก็ต่างสร้างตัวเองให้แข็งแกร่ง