กองทุน FAM FIPR3M2 จะพิจารณาลงทุนในตราสารแห่งหนี้ ตราสารทางการเงินและ/หรือ เงินฝากของภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ เงินฝากธนาคารต่างประเทศสกุลเงิน USD, CNY, HKD, EUR, JPY กับธนาคาร BOC (Macau), Standard Chartered Bank (Hong Kong), ธนาคาร CIMB Niaga (Indonesia), ตั๋วเงินหรือเงินฝากธนาคารพาณิชย์ในประเทศ, ตั๋วแลกเงิน บมจ.เอเซียเสริมกิจ ลีสซิ่ง(BBB+), ตั๋วแลกเงิน บมจ.ราชธานีลิสซิ่ง (BBB+), บจ.บีเอสแอล ลีสซิ่ง(BBB) หรือตราสารหนี้ภาคเอกชนที่มีอันดับความน่าเชื่อถือตั้งแต่ BBB ขึ้นไป, ตั๋วเงินคลัง หรือ พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นต้น
นายธีรพันธุ์ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในช่วงของการฟื้นตัว โดยรัฐบาลมีการประกาศนโยบายลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 3 ล้านล้านบาท อย่างไรก็ตามในด้านของปัจจัยภายนอกประเทศยังมีความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะในยุโรปและจีน ซึ่งเป็นปัจจัยที่กดดันการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง การลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงในระดับต่ำและอัตราผลตอบแทนที่ดีจึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจในการใช้เป็นแหล่งพักเงินระยะสั้น
อีกทั้งหลังจากการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) เมื่อวันที่ 28-29 ตุลาคม 2557 มีมติว่าจะยุติโครงการ QE ในเดือนตุลาคม 2557 และจะยังคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำต่อไปจนกว่าจะเห็นสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ชัดเจน โดยตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ แสดงให้เห็นถึงการเริ่มฟื้นตัว โดย GDP ไตรมาส 3 ขยายตัวร้อยละ 3.5 สูงกว่าที่ตลาดคาดที่ร้อยละ 3.0 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนตุลาคมอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 7 ปี คาดว่าทิศทางของอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในช่วงขาขึ้นในปี 2558 สถานการณ์เช่นนี้การลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นเป็นทางเลือกที่น่าสนใจเนื่องจากสามารถรองรับความเสี่ยงจากการเสียโอกาสลงทุนในภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นได้