ส่วนการหาแหล่งรปิโตรเลียมใหม่เพิ่มเติมนั้น ก็ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยจะเน้นการซื้อกิจการ(M&A)แหล่งที่มีศักยภาพ และมีการผลิตอยู่แล้วทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคนี้ เนื่องจากบริษัทมีความคุ้นเคย ซึ่งปัจจุบัน PTTEP มีโครงการปิโตรเลียมที่มีการพัฒนาแล้ว รวมทั้งแหล่งปิโตรเลียมในพอร์ตรวมประมาณ 4 แสนบาร์เรล/วัน หากต้องการให้บรรลุเป้าหมาย 6 แสนบาร์เรล/วัน ก็คงต้องลงทุนเพิ่มเติมอีก โดยจะหารือกับคณะกรรมการบริษัทเพื่อกำหนดทิศทางต่อไป
"เป้าหมายการผลิตปิโตรเลียมให้ครบ 6 แสนบาร์เรล/วันในปี 63 กำลัง Review อยู่ แต่บริษัทยังมีเวลาอีก 6 ปี ซึ่งโครงการที่มีอยู่มีอยู่ในพอร์ตสามารถผลิตได้ 4 แสนบาร์เรล/วัน ยังต้องหาแหล่งปิโตรเลียมใหม่เพิ่มเติมในอนาคต"ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PTTEP กล่าว
นายเทวินทร์ กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างจัดทำแผนลงทุน 5 ปี (ปี 58-62) คาดว่าจะแล้วเสร็จเพื่อเสนอคณะกรรมการบริษัทภายในเดือน ธ.ค.นี้ โดยยังเดินหน้าการลงทุนโครงการพัฒนาปิโตรเลียมที่จะสร้างการเติบโตให้บริษัท แต่จะชะลอโครงการที่อยู่ระหว่างเตรียมสำรวจและมีต้นทุนการผลิตสูงออกไปก่อน เพื่อหาเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆมาใช้ลดต้นทุนให้ต่ำลงสอดคล้องกับทิศทางราคาน้ำมัน
"บริษัทไม่รีบเร่งในการพัฒนาโครงการที่มีต้นทุนสูง เนื่องจากบริษัทมีศักยภาพปริมาณสำรองที่พิสูจน์แล้วและปริมาณสำรองที่คาดว่าจะมีรวมกันแล้ว 40 ปี มากเพียงพอ แต่ตอนนี้จะเน้นการบริหารลดต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆลงมาให้ต่ำที่สุด ซึ่งโครงการแคช เมเปิลที่ออสเตรเลีย และออยแซนด์ที่แคนาดาก็จะทำการประเมินว่าจะทำอย่างไรให้คุ้มค่าภายใต้ราคาน้ำมันดิบเช่นนี้ โดยจะหาเทคโนโลยีใหม่เพื่อลดต้นทุน ถ้าคุ้มค่าเร็วก็จะทำเร็ว ซึ่งโครงการเหล่านี้ไม่ได้มีสัญญาว่ากำหนดเงื่อนไขเวลาการพัฒนาโครงการ" นายเทวินทร์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในปีหน้าบริษัทฯมั่นใจว่าแหล่งมอนทาราที่ออสเตรเลียจะมีผลิตน้ำมันดิบได้ 2 หมื่นบาร์เรล/วัน จากปัจจุบันที่ผลิตเฉลี่ย 1.7 หมื่นบาร์เรล/วัน โดยจะมีการเจาะหลุมเพิ่มเติมเพื่อผลิตเพิ่มขึ้น
นายเทวินทร์ กล่าวว่า บริษัทมีเป้าหมายจะปรับลดต้นทุนการผลิตรวม (Unit Cost)จากปัจจุบันอยู่ที่ 42 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เพื่อเพิ่มส่วนต่างกำไร(มาร์จิ้น)ให้สูงขึ้น เพราะแนวโน้มราคาขายปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมัน โดยในไตรมาส 3/57 ราคาขายเฉลี่ย 65 เหรียญ/บาร์เรล ต่ำลงจากเดิมที่ 66 เหรียญ/บาร์เรล และมีแนวโน้มมาร์จิ้นลดลง