“บริษัทวางทิศทางการเติบโตของบริษัทฯให้ไปสู่การเป็นบริษัทพลังงานชั้นนำครบวงจรที่มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าองค์กรในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และมีมูลค่าองค์กร 282,000 ล้านบาทในปี 66 หรือคิดเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้าประมาณ 9,700 เมกะวัตต์"นายพงษ์ดิษฐ์ กล่าว
ทั้งนี้ การเตรียมความพร้อมสำหรับโรงไฟฟ้าใหม่ที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในปีนี้และปี 58 มีกำลังการผลิตตามการถือหุ้นรวม 839 เมกะวัตต์ และการลงทุนโครงการใหม่อีก 4 โครงการ กำลังการผลิตตามการถือหุ้นรวม 59 เมกะวัตต์ ตลอดจนศึกษาโครงการที่มีศักยภาพในต่างประเทศ ซึ่งบริษัทได้เตรียมเงินทุนไว้พร้อมสำหรับลงทุนหากดำเนินการได้สำเร็จตามแผน โดยคาดว่าในปี 58 จะใช้งบลงทุนราว 1.25 หมื่นล้านบาท
สำหรับโรงไฟฟ้าใหม่ที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในปีนี้และปี 58 มีจำนวน 3 โครงการ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าราชบุรีเวอล์ดโคเจนเนอเรชั่น (กำลังผลิตติดตั้ง 210 เมกะวัตต์) ซึ่งโรงไฟฟ้าหน่วยที่ 1 ได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าแล้วในปีนี้ และหน่วยที่2 จะเริ่มเดินเครื่องในปี 2558 เช่นเดียวกับโรงไฟฟ้าพลังความร้อนหงสา (กำลังการผลิตตั้ง 1,878 เมกะวัตต์) และโครงการสงขลาชีวมวล (กำลังการผลิตติดตั้ง 9.9 เมกะวัตต์)
อย่างไรก็ดี บริษัทฯ ยังมีโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 2 แห่ง ได้แก่ โครงการผลิตไฟฟ้านวนคร กำลังการผลิตติดตั้ง 122 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังน้ำ เซเปียนเซน้ำน้อย ในสปป. ลาว กำลังการผลิตติดตั้งรวม 410 เมกะวัตต์ ทั้ง 5 โครงการ เป็นเงินลงทุนส่วนทุนของบริษัทฯ ประมาณ 16,566 ล้านบาท
ในปีนี้บริษัทมีการลงทุนในประเทศเพิ่ม ได้แก่ โครงการราชบุรีโคเจนเนอเรชั่น กำลังผลิตติดตั้ง 100 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ที่จังหวัดราชบุรี และเจรจาร่วมทุนโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะ จังหวัดสมุทรปราการ กำลังการผลิต 9.98 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ยังร่วมทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่น อีก 2 โครงการ กำลังผลิตติดตั้งรวม 33 เมกะวัตต์ ทั้งหมดเป็นโครงการประเภท Greenfields ซึ่งคาดว่าบริษัทฯ จะลงทุนในส่วนทุนเป็นเงินประมาณ 1,213 ล้านบาท
นอกจากนี้ บริษัทยังมีโครงการเป้าหมายที่ศักยภาพสำหรับลงทุนอีก 8 โครงการ เป็นโครงการโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลักในประเทศเมียนมาร์ 2 โครงการ และเวียดนาม 1 โครงการ โครงการพลังงานทดแทนในออสเตรเลีย 1 โครงการ โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่น ธุรกิจสายส่งแรงดันสูง 230 กิโลโวลต์ในกัมพูชา ธุรกิจถ่านหินในอินโดนีเซีย และธุรกิจจัดหาเชื้อเพลิงในประเทศเมียนมาร์ ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียดและจะพยายามให้ได้ข้อสรุปชัดเจนในปี 2558
RATCH เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนชั้นนำของไทย ปัจจุบันมีกำลังผลิตติดตั้งรวม 6,565 เมกะวัตต์ โดย 5,561 เมกะวัตต์ เป็นกำลังการผลิตที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้ว และ 1,004 เมกะวัตต์อยู่ระหว่างการก่อสร้างและพัฒนา โดยมีฐานลงทุนใน 4 ประเทศ ได้แก่ ไทย 4,936.5 เมกะวัตต์ ลาว 1,096.5 เมกะวัตต์ ออสเตรเลีย 509.52 เมกะวัตต์ และญี่ปุ่น 22.48 เมกะวัตต์
ณ วันที่ 30 ก.ย.57 บริษัทมีสินทรัพย์รวม 98,307.7 ล้านบาท หนี้สินรวม 36,416.95 ล้านบาท และส่วนของผู้ถือหุ้น จำนวน 61,890.75 ล้านบาท ขณะที่ กำไรสะสมเป็นจำนวน 45,943 ล้านบาท