TSTH เน้นขายสินค้ามูลค่าเพิ่มดันงวดปี 5758 พลิกกำไร แม้ครึ่งแรกขาดทุน

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday November 21, 2014 15:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายราจีฟ มังกัล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทาทาสตีล (TSTH) เปิดเผยว่า บริษัทคาดหวังว่าผลประกอบการงวดปี 57/58 (เม.ย.57-มี.ค.58) จะพลิกเป็นกำไร แม้งวดครึ่งปีแรกจะขาดทุน 69 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทหันผลิตและจำหน่ายสินค้ามูลค่าเพิ่มมากขึ้น โดยตั้งเป้าใน 6 เดือนจากนี้ไปสัดส่วนรายได้จากสินค้าดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็น 50% จากครึ่งปีแรกอยู่ที่ 25%

ทั้งนี้ สินค้ามูลค่าเพิ่ม(high value)ได้แก่ เหล็ก SD50, เหล็กเส้นขึ้นรูป และเหล็กต้านทานแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหว โดยจเข้าไปรุกตลาดกลุ่มงานสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานในโครงการขนาดใหญ่ที่ต้องใช้เหล็กดีไซน์ โดยเฉพาะโครงการของการรถไฟฟ้าขนส่งมวงลชนประเทศไทย(รฟม.) กรมโยธาธิการ และกรมทางหลวงก็สนใจ ซึ่งขณะนี้เจรจาคุยกับลูกค้าหลายราย

"งวดครึ่งปีหลังยังมีมุมมองเชิงบวกต่อสถานการณ์บริษัทน่าจะดีขึ้นจากงวดครึ่งปีแรก เพราะในแง่ของเศษเหล็กราคาก็ลดลงส่งผลให้สเปรดน่าจะดีขึ้น แม้เราจะมีวัตถุดิบเศษเหล็กที่เป็นต้นทุนเดิมอยู่ด้วย แต่ก็เชื่อว่าสเปรดจะดีขึ้น ขณะที่ demand ก็เพิ่มสูงขึ้นหลังหมดฤดูมรสุม และถ้าสินค้าจีนนำเข้าลดลงก็จะยิ่งส่งผลดี มองไตรมาส 4(ม.ค.-มี.ค.58) น่าจะดีกว่าไตรมาส 3 เราหวังว่ามุมมองเชิงบวกเหล่านี้จะช่วยให้ผลประกอบการทั้งปีมีกำไรสุทธิได้ และเราก็หวังว่าสินค้า high value ยังมีศักยภาพในการโต จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เราเห็นกำไร"นายราจีฟ กล่าว

นายราจีฟ กล่าวว่า ราคาขายเหล็กสำเร็จรูปเฉลี่ยในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 1.9 หมื่นบาท/ตัน ขณะที่ต้นทุนเศษเหล็กอยู่ที่ 8,000 บาท/ตัน ซึ่งบริษัทจะพยายามรักษาส่วนต่างของราคาขายและต้นทุน(สเปรด)ในระดับดังกล่าว และหากไตรมาสสุดท้ายความต้องการเหล็กในประเทศเพิ่มขึ้นก็จะส่งผลดีต่อราคาขาย โดยบริษัทคาดว่าในงวดปี 57/58 ปริมาณขายเหล็กจะต่ำกว่าปีก่อนที่ 1.29 ล้านตัน แต่จะสูงกว่า 1.1 ล้านตัน ครึ่งแรกมีปริมาณขายราว 5.74 แสนตัน เพราะเหล็กลวดที่เป็นสินค้าหลักราว 25% ของยอดขายรวมได้รับผลกระทบอย่างมากจากสินค้านำเข้าจีน ขณะที่เหล็กก่อสร้าง เหล็กข้ออ้อย และเหล็กกลม ก็ยังไม่ดีนัก

"โครงการรัฐช้ากว่าคาด เดิมควรเปิดประมูลรถไฟบางสาย แต่ยังไม่มา ยังไม่มีกำลังซื้อตอนนี้ ก็คาดว่าไตรมาส (ม.ค.-มี.ค.58 น่าจะดีขึ้น"นายราจีฟ กล่าว

ส่วนภาพรวมงวดปี 58/59 บริษัทประเมินว่าความต้องการเหล็กในประเทศจะเติบโตได้ 5-7% จากปีนี้ ภายใต้คาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ที่ระดับ 4% เนื่องจากจะมีโครงการลงทุนของรัฐบาลออกมาเป็นจำนวนมาก ขณะที่บริษัทมีกำลังการผลิตเพียงพออยู่แล้ว แต่หากจะต้องลงทุนเพิ่มก็คงเน้นไปที่ปลายน้ำ คือเพิ่มสินค้า High value เท่านั้น

ปัจจุบัน บริษัทมีโรงงานผลิต Cut&Bend 2 แห่ง ที่จ.ระยอง และจ.ชลบุรี โดยที่ชลบุรีเต็มกำลังผลิตแล้ว ส่วนที่ระยองเดินเครื่อง 1 ใน 3 ของกำลังการผลิต ขณะเดียวกันบริษัทยังคงเดินหน้าขายโครงการเตาถลุง Mini Blast Furnace (MBF) คาดว่าจะสรุปการเจรจาได้ภายในเดือน มี.ค.58


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ