(เพิ่มเติม) KBANK ชูยุทธศาสตร์ปี 58 ขึ้นผู้นำดิจิตอลแบงก์กิ้ง-ก้าวสู่ AEC+3

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday November 25, 2014 10:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารกสิกรไทย(KBANK)เปิดแผนธุรกิจปี 58 ชูยุทธศาสตร์ผู้นำอันดับหนึ่งด้านดิจิตอลแบงกิ้งและบริการด้านธุรกรรมทางการเงิน(Transaction Banking) พร้อมประกาศความเป็นธนาคารแห่ง AEC+3 ด้วยเครือข่ายบริการทั่วภูมิภาค เพื่อรองรับเม็ดเงินลงทุนหมุนเวียนในธุรกิจข้ามชาติระหว่างไทยและภูมิภาค ตั้งเป้าภาพรวมสินเชื่อขยายตัว 8-9% NIM อยู่ในช่วง 3.5-3.7% สัดส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมเป็น 40% ดูแลสัดส่วน NPL ไม่เกิน 2.3% ครองอันดับหนึ่งการเป็นธนาคารหลักของลูกค้าทุกกลุ่ม มั่นใจเติบโตสอดคล้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศที่คาดการณ์จีดีพีโตในกรอบ 3.5-4.5%

"ธนาคารตั้งเป้าหมายครองปันดับหนึ่งการเป็นธนาคารหลักของลูกค้าทุกกลุ่ม รักษาตำแหน่งผู้นำอันดับหนึ่งด้านดิจิตอลแบงก์กิ้งและบริการด้านธุรกรรมการเงิน และเป็นธนาคารแห่ง AEC+3 ที่แข็งแกร่งพร้อมรองรับการลงทุนและธุรกรรมข้ามชาติที่จะเพิ่มจำนวนมหาศาลในภูมิภาคนี้"นายธีรนันท์ ศรีหงส์ กรรมการผู้จัดการ KBANK กล่าว

นายธีรนันท์ กล่าวว่า การเปิดการเสรีการค้าในภูมิภาคอาเซียนอย่างสมบูรณ์แบบช่วงปลายปี 58 เป็นปัจจัยที่ต้องจับตามอง เนื่องจากเชื่อว่าสามารถดึงดูดเม็ดเงินเข้ามาลงทุนในภูมิภาคได้อย่างต่อเนื่อง คาดว่าภาพรวมเศรษฐกิจอาเซียนในปีหน้าจะขยายตัวถึง 5.2% และจะเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 5 ของโลก ขณะที่กลุ่ม AEC+3 ที่รวมจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีไต้ จะมีขนาดเศรษฐกิจรวมกันเป็นสัดส่วน 25% ของเศรษฐกิจโลก จึงเป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยและภูมิภาค

โดยเฉพาะจีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักอันดับ 1 ของไทย และมีการใช้นโยบายผลักดันให้ภาคธุรกิจขยายการลงทุนในต่างประเทศ และ ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักอันดับ 3 ของไทย และมีนโยบายที่จะใช้ไทยเป็นฐานการผลิตหลักไนภูมิภาคอาเซียน แต่ส่วนหนึ่งก็ได้มีการย้ายฐานการผลิตสินค้าหรือชิ้นส่วนที่ใช้แรงงานเข้มข้นไปในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านทั้ง CLMV และ อินโดนีเซีย ที่มีข้อได้เปรียบไทยเรื่องต้นทุนและจำนวนแรงงาน

ทิศทางธุรกิจข้ามประเทศของธนาคารในปี 58 ธนาคารจะยกระดับสาขาในประเทศจีนให้เป็นธนาคารท้องถิ่นภายในช่วงปลายปี 58 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการเจรจาข้อตกลง โดยจะทำให้การทำธุรกรรมต่างๆสามารถทำในรูปแบบสกุลเงินหยวน RMB ซึ่งสะดวกกว่าปัจจุบันที่การทำธุรกรรมต้องทำเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ อีกทั้งจะมีการเปิดสาขาธนาคารในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ในช่วงต้นปี 58 และตั้งเป้าเป็น Main Operating Bank สำหรับนักลงทุนญี่ปุ่นในไทย โดยร่วมกับ JRB ในการทำธุรกรรม

ปัจจุบัน KBANK มีสำนักงานต่างประเทศในกลุ่มประเทศ AEC+3 และประเทศอื่นๆ รวมทั้งสิ้น 16 แห่ง แบ่งเป็น ธนาคารท้องถิ่น 1 แห่ง ได้แก่ สปป.ลาว สาขา 6 แห่ง ได้แก่ สาขาเซินเจิ้น สาขาย่อยหลงกั่ง เซินเจิ้น สาขาเฉิงตู สาขาฮ่องกง สาขาลอสแองเจิลลิส สาขาหมู่เกาะเคย์แมน สำนักงานผู้แทน 7 แห่ง ได้แก่ สำนักงานผู้แทนปักกิ่ง สำนักงานผู้แทนเซี่ยงไฮ้ สำนักงานผู้แทนคุนหมิง สำนักงานผู้แทนย่างกุ้ง สำนักงานผู้แทนฮานอย สำนักงานผู้แทนโฮจิมินห์ สำนักงานผู้แทนโตเกียว และที่กำลังเตรียมการจัดตั้ง ได้แก่ สำนักงานผู้แทนจาการ์ตา สาขาพนมเปญ สำหรับเครือข่ายธนาคารพันธมิตรมีจำนวน 66 ธนาคาร ใน 9 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เยอรมัน อิตาลี ลาว เวียดนาม กัมพูชา อินโดนีเซีย

ในปี 58 ธนาคารตั้งเป้ามีรายได้จากการปล่อยสินเชื่อให้แก่นักลงทุนจีนในไทย 471 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% จากปี 57 รายได้จากการปล่อยสินเชื่อให้แก่นักลงทุนญี่ปุ่นในประเทศไทย 1,132 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% พร้อมตั้งเป้ายอดธุรกรรมการค้าไทย-จีนผ่านธนาคาร 396,711 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% ยอดธุรกรรมการค้าไทย-ญี่ปุ่นผ่านธนาคาร 156,590 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% และมียอดธุรกรรมการค้าไทย-อาเซียนผ่านธนาคาร 185,668 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34%

เป้าหมายการดำเนินธุรกิจในจีนปี 58 คาดว่าจะมียอดธุรกรรมระหว่างประเทศผ่านธนาคาร 8,000 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 60% จากปี 57 มียอดสินเชื่อ 3,750 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 44% และยอดเงินฝาก 4,950 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 106% ส่วนเป้าหมายในลาวคาดว่าจะมียอดธุรกรรม 3,000 ล้านบาท มียอดสินเชื่อ 1,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 150% และมียอดเงินฝาก 250 ล้านบาท

นายธีรนันท์ กล่าวว่า ธนาคารคาดว่าจะมีความต้องการเม็ดเงินลงทุนหลายโครงกา ทั้งการค้าระหว่างประเทศในอาเซียนที่มีมูลค่ารวมกว่า 11 ล้านล้านบาท และโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 2.4 ล้านล้านบาทของรัฐบาล รวมทั้งการขยายตัวของชุมชนเมืองในตลาดต่างจังหวัด โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกที่มีสัดส่วนการเติบโตกว่า 10%

ทั้งนี้ มองว่าธุรกิจที่มีแนวโน้มสดใสในปี 58 ได้แก่ ธุรกิจกลุ่มวัสดุก่อสร้าง สื่อสารโทรคมนาคม ค้าปลีกสมัยใหม่ และค้าปลีกตามแนวชายแดน ท่องเที่ยวและธุรกิจด้านสุขภาพ และ ส่งออกสินค้าที่สร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น รถยนต์ สินค้าไลฟ์สไตล์และแฟชั่น อาหารแปรรูป ซึ่งธนาคารฯ พร้อมจะเข้าไปให้ความสนับสนุนทางการเงินแก่ธุรกิจบรรษัทและเอสเอ็มอี รวมทั้งบริการที่รองรับการจับจ่ายใช้สอยของลูกค้ารายย่อย

นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ KBANK กล่าวว่า ธนาคารกำหนดเป้าหมายธุรกิจปี 58 ให้สอดคล้องกับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะขยายตัว 3.5-4% โดยตั้งเป้าสินเชื่อรวมเติบโต 8-9% จากปีนี้ไม่เกิน 8% ซึ่งจะเป็นการเติบโตของสินเชื่อบรรษัท 4-6% ที่มีกลุ่มเป้าหมายคือกลุ่มธุรกิจที่ลงทุนระยะยาวแมีการใช้กำลังการผลิตสูง โดยเน้นลูกค้านำเข้าและส่งออก กลุ่มอุตสาหรรมเป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มวัสดุก่อสร้าง กลุ่มอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์ และยานยนต์ชิ้นส่วน ส่วนสินเชื่อผู้ประกอบการเติบโต 8-10% และสินเชื่อรายย่อยเติบโต 6-9% ยังเน้นผลิตภัณฑ์ที่ให้ผลตอบแทนสูง โดยมีการบริหารจัดการความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ เช่น บัตรเครดิต และบัตรกดเงินสด

สำหรับระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในปี 58 ตั้งเป้ารักษาระดับที่ 2.2-2.3% ที่สามารถบริหารจัดการได้ และใกล้เคียงกับ NPL สิ้นปีนี้ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 2.2% จาก 9 เดือนแรกของปี 57 อยู่ที่ 2.16% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเนื่องจากกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอี และธุรกิจขนาดเล็กบางส่วนยังไม่สามารถฟื้นธุรกิจได้ดีนัก หลังจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองช่วงต้นปี

ขณะที่อัตราส่วนรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Non-Interest Income Ratio) เติบโต 40% โดยการเติบโตหลักๆมาจากรายได้ค่าธรรมเนียมรับและบริการสุทธิ และรายได้เบี้ยประกันภัยรับสุทธิหลังหักค่าใช้จ่ายในการรับประกันภัย ขณะที่อัตราส่วนผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (NIM) ในปี 58 ตั้งเป้าอยู่ที่ 3.5-3.7%

"แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 58 คาดว่าขยายตัวระดับ 3.5-4.5% จะมีแรงส่งมาจากการฟื้นตัวของแรงขับเคลื่อนในประเทศ ที่นำโดยการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ คาดว่ามูลค่าลงทุนโดยรวมจะขยายตัว 6% ภาคการส่งออกคาดว่าจะขยายตัวได้ 3.5% แต่ยังมีผลกระทบจากการที่ประเทศแกนนำทางเศรษฐกิจของโลกยังฟื้นตัวไม่พร้อมกัน อย่างญี่ปุ่น จีน และยูโรโซน ที่ยังต้องมีการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจภายใน ขณะนี้มีเพียงสหรัฐฯที่ขยายตัวขึ้นอย่างโดดเด่น หลังจากสามารถแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศได้"

ปัจจัยที่ต้องมีความระวังและเป็นปัจจัยกดดันที่สำคัญในปีหน้า คือ กำลังซื้อที่ยังอ่อนแรงจากค่าครองชีพและภาวะหนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 83% ของจีดีพี และราคาสินค้าโภคภัณฑ์เกษตรที่ตกต่ำจะเป็นปัจจัยฉุดที่สำคัญ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ