ECF เจรจาพันธมิตรใหม่ค้าปลีกญี่ปุ่นต้น ธ.ค./เป้ารายได้ 3 ปีโตเฉลี่ย15%

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday December 1, 2014 12:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอารักษ์ สุขสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค(ECF) เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมเจรจากับพันธมิตรญี่ปุ่นรายใหม่ในธุรกิจค้าปลีก 1 รายช่วงต้นเดือน ธ.ค.นี้ เนื่องจากบริษัทสนใจการทำธุรกิจค้าปลีก แม้จะไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลัก เพราะมองเห็นโอกาสในการรุกเข้าไปทำธุรกิจดังกล่าว โดยก่อนหน้านี้บริษัทได้เดินทางไปเจรจากับพันธมิตรญี่ปุ่นรายหนึ่งแต่ไม่ประสบความเร็จในเงื่อนไขบางประการ
"เราสนใจธุรกิจด้าน Retail Shop ตอนนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ ซึ่งก่อนหน้านี้เราได้บินไปไปเจรจาดีลกับพันธมิตรที่ญี่ปุ่น 1 ราย แต่เขาไม่ตกลงกับเงื่อนไขบางอย่าง เราก็จบไปและพยายามหาพันธมิตรใหม่ ตอนนี้เราก็มีพันธมิตรจากญี่ปุ่นที่ทำธุรกิจ Retail เหมือนกัน เขาสนใจเราแล้วก็จะบินมาคุยกับเราช่วงต้นเดือนธันวาคมนี้"นายอารักษ์ กล่าว

นายอารักษ์ เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้าใน 3 ปีข้างหน้า(ปี 58-60)รายได้จะเติบโตอย่างต่อเนื่องเฉลี่ย 15% ต่อปี โดยมีสัดส่วนรายได้จากการส่งออกราว 60% และสัดส่วนรายได้จากการขายในประเทศอยู่ที่ 40% ซึ่งการเติบโตแต่ละปีจะมาจากยอดขายเฟอร์นิเจอร์ทั้งในและต่างประเทศทั้งฐานลูกค้าเดิมและการขยายฐานลูกค้าใหม่ บริษัทตั้งเป้าเพิ่มลูกค้าใหม่อีก 2-3 ราย

ประกอบกับ บริษัทเน้นขยายตลาดญี่ปุ่นเพิ่มเติม ทำให้สัดส่วนตลาดญี่ปุ่นสูงถึง 80% ของสัดส่วนรายได้จากการส่งออกของบริษัท นอกจากนี้กลุ่มประเทศตะวันออกกลางบริษัทตั้งเป้ายอดขายเติบโตขึ้น 30% และในสหรัฐที่บริษัทมีฐานลูกค้าอยู่แล้ว ก็จะนำสินค้าใหม่ๆ เข้าไปจำหน่าย และหาลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้น โดยตั้งเป้ายอดขายในสหรัฐฯเติบโต 10% ขณะที่กลุ่มประเทศอาเซียน (AEC) ก็จะหาฐานลูกค้าใหม่เพิ่มเข้ามาด้วย

อย่างไรก็ตาม ช้วงที่ผ่านมาบริษัทได้เข้าไปเจรจากับลูกค้าอย่างต่อเนื่องและมีออเดอร์ใหม่เข้ามาแล้วบางส่วน โดยภายในช่วงไตรมาส 1/58 บริษัทมีออเดอร์จากต่างประเทศที่รอรับรู้รายได้ราว 400 ล้านบาท

นายอารักษ์ กล่าวอีกว่า บริษัทยังตั้งเป้าเพิ่มอัตรากำไรสุทธิใน 3 ปีข้างหน้าเป็น 8-10% จาก 9 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ 6.13% เนื่องจากเน้นการบริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมไปถึงเน้นการพัฒนาสินค้าใหม่ๆและการเพิ่มมูลค่าของสินค้า อย่างเช่น การซื้อลิขสิทธิ์คาแรคเตอร์ของวอลท์ดีสนีย์จากสหรัฐมาผลิตเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูงและไห้อัตรากำไรขั้นต้นที่ดี ขณะนี้อยู่ระหว่างรอตัวแทนจากวอลท์ดีสนีย์เข้ามาตรวจโรงงานช่วงต้นเดือน ธ.ค.นี้ และคาดว่าจะรู้ผลก่อนสิ้นปี หลังจากนั้นจะใช้เวลาผลิต 6 เดือนถึงจะสามารถเริ่มรับรู้รายได้

"วอลท์ดีสนีย์ตอนนี้เราก็เหลือแต่รอเขาส่งตัวแทนมาตรวจโรงงานในช่วงต้นเดือนหน้าอย่างเดียว เขาก็ส่งคนมาเพื่อมาดูว่าจุดอ่อนของเราที่เขาให้เราแก้นั้นทำได้ตามนั้นไหม ซึ่งก็คาดว่าจะจบได้ก่อนคริสมาสต์นี้ และหลังจากนั้นจะใช้วะยะเวลาอีกสัก 6 เดือนถึงจะเริ่มรับรู้รายได้จากการขายสินค้าดีสนีย์ได้ เรามองว่าการนำลิขสิทธิ์ตัวการ์ตูนดีสนีย์มาผลิตอยู่บนเฟอร์นิเจอร์ของเรา เพราะมีตัวการ์ตุนที่หลากหลาย เป็นสินค้าที่ราคาแพงและให้กำไรมากกว่าสินค้าปกติ เรามองรายได้จากสินค้าดีสนีย์ประมาณ 100 ล้านบาทขึ้นไป แต่รายได้จะเข้ามาอีก 6 เดือนข้างหน้า เครื่องจักรสำหรับการผลิตเราก็ต้องลงเพิ่ม เพราะเป็นเครื่องพิมพ์ลายการ์ตูนโดยเฉพาะ เป็นเทคโนโลยีเยอรมัน แต่ผลิตในไต้หวันเท่านั้น"นายอารักษ์ กล่าว

พร้อมกันนั้น บริษัทขยายช่องทางการจัดจำหน่ายในประเทศผ่านโมเดิร์นเทรด เช่น เทสโก้ โลตัส, บิ๊กซี, เมกาโฮม, ไทวัสดุ และยังมีแบรนด์ ELEGA ใน Index Living mall และ Homepro จำนวน 13 สาขา นอกจากนั้นในปี 58 จะขยายโชว์รูมของบริษัทให้เป็น 17 สาขา จากปัจจุบัน 15 สาขา และจะขยายเพิ่มเป็น 25 สาขาในปี 60 รวมทั้งขยายช่องทางจำหน่ายออนไลน์ โดยเริ่มดำเนินการเพิ่มช่องทางดังกล่าวเมื่อเดือน ต.ค.57 มีกระแสตอบรับที่ดีจากออเดอร์เข้ามามากขึ้น และมองว่าในอนาคตน่าจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะสามารถผลักดันให้สัดส่วนรายได้ในประเทศเพิ่มมากขึ้น

ส่วนภาพรวมธุรกิจเฟอรนิเจอร์นั้น นายอารักษ์ กล่าวว่า หากอ้างอิงข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยเกี่ยวกับภาพรวมของการส่งออกเฟอร์นิเจอร์มีแนวโน้มเติบโตขึ้น 5-8% ต่อปี จากปัจจุบันมีมูลค่าตลาดรวมอยู่ที่ 4-4.4 หมื่นล้านบาท โดยประเทศที่เป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตของการส่งออกเฟอร์นิเจอร์ คือ ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นลูกค้าหลักที่บริษัทมีสัดส่วนการส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไปจำหน่ายมากที่สุด

สำหรับการลงทุนในธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานทดแทนนั้น นายอารักษ์ กล่าวว่า บริษัทมองว่าเป็นโอกาสและให้ผลตอบแทนที่ดี นอกเหนือจากโครงการโซลาร์รูฟท็อปที่บริษัทได้จัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับ บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) โดย ECF และ GUNKUL จะถือหุ้นในสัดส่วน 74.99% และ 25.10% ตามลำดับ โดยจะใช้พื้นที่หลังคาโรงงานของ ECF และพันธมิตรในธุรกิจเฟอร์นิเจอร์รวมกันเพื่อติดตั้งแผงผลิตกระแสไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ขณะนี้มีความพร้อมแล้ว 15 เมกะวัตต์ จากเป้าหมาย 30 เมกะวัตต์ ขณะที่ GUNKUL จะดำเนินการด้านระบบ การติดตั้ง ตลอดจนอุปกรณ์เทคนิคต่างๆ บริษัทคาดว่าในปี 58 จะเริ่มรับรู้รายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าของบริษัทย่อยที่ดำเนินธุรกิจพลังงานทดแทนได้อย่างน้อย 1 โครงการ

ขณะที่เงินลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทนในปี 58 คาดว่าใช้เงินลงทุนกว่า 60-70 ล้านบาทต่อเมกกะวัตต์ ซึ่งโครงการโซลาร์รูฟท็อปนั้นบริษัทวางแผนไว้ที่ 15 เมกกะวัตต์ ส่วนธุรกิจเฟอร์นิเจอร์นั้นจะใช้เงินไม่เกิน 100 ล้านบาทสำหรับการปรับปรุงและซ่อมบำรุงเครื่องจักรที่ไช้ในการผลิต ประกอบการขยายโชว์รูมในปีหน้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ