ทั้งนี้ บริษัทคาดหวังว่าจะสามารถนำมาซึ่งการพัฒนาโครงข่ายและโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งธุรกิจที่เกี่ยวข้องให้มีความทันสมัยและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด และสามารถกระจายไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม ประชาชน และความมั่นคงของประเทศชาติ
ด้านนายชัยยศ จิรบวรกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร DTAC กล่าวว่า การร่วมมือกันครั้งนี้ เนื่องด้วยทาง DTAC ได้พิจารณาแล้วว่าภายหลังเมื่อหมดสัมปทานในปี 61 ทางบริษัทอาจจะนำเอาทรัพย์สินของ CAT ไปต่อยอดทางธุรกิจในอนาคต ทำให้เกิดการประหยัดต้นทุน และเพื่อขยายการให้บริการให้ครอบคลุมมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์สูงสุดของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยโดยภารวมต่อไป
อย่างไรก็ตาม ข้อพิพาทที่มีอยู่ในศาลปกครอง มองว่าไม่มีข้อไหนที่ไม่สามารถตกลงกันได้ ซึ่งประเด็นหลักๆจะเป็นเรื่องของการตีความของสัญญาสัมปทาน ที่ทาง CAT และ DTAC มีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันเท่านั้น
ด้าน พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ รักษาการกรรมการผู้จัดการ CAT กล่าวว่า การลงนามครั้งนี้จะก่อประโยชน์ให้แก่ CAT เช่นกัน โดยสามารถนำเอา infrastructure หรือ โครงสร้างพื้นฐานของ DTAC มาใช้ในอนาคตได้ และเพื่อยุติข้อพิพาทที่มีอยู่ในศาลปกครอง และในชั้นของอนุญาโตตุลาการที่มีอยู่ราว 20 คดี เนื่องด้วยส่วนใหญ่ข้อพิพาทเกิดจากการใช้เสาและสถานีฐานภายใต้สัมปทาน
อนึ่ง ที่ผ่านมาทาง CAT ได้วางรูปแบบธุรกิจที่สามารถดำเนินการร่วมกับ DTAC ไว้ 3 แนวทางที่จะเจรจาให้แล้วเสร็จก่อนสิ้นปีนี้ คือ 1.การร่วมทุนกัน 2.การแปลงสินทรัพย์ที่ DTAC ส่งมอบให้เป็นทุนหรือเป็นหุ้น และ 3.นำเสาโทรคมนาคมและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องภายหลังจากหมดสัมปทานแล้วเข้ากองทุนเพื่อระดมเงินทุนเพิ่มเติม