นายชำนาญ พรพิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ PPM กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาการลงทุนตั้งโรงงานผลิตโซลาร์เซลล์ กำลังการผลิต 600 เมกะวัตต์ร่วมกับ Yingli ด้วย คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้ มูลค่าเงินลงทุน รวมค่าก่อสร้างและอุปกรณ์เครื่องจักรราว 6 พันล้านบาท โดยคาดวา PPM จะถือหุ้นในสัดส่วน 40% และ YINGLI ถือหุ้น 60%
"ถ้าสรุปว่าดำเนินการก็คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปี เริ่มก่อสร้างปี 58 โดยจะนำ 300 เมกะวัตต์ที่ผลิตได้ไปทำแผงโซลาร์ป้อนในประเทศ และอีก 300 เมกะวัตต์ไปขายหรือส่งออกไปขายต่างประเทศ เช่น จีน"นายชำนาญ กล่าว
ทั้งนี้ บริษัทยังเล็งเห็นถึงการแสวงหาพันธทมิตรเพื่อสร้างความแข็งแกร่งในอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งจะส่งผลในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าให้กับประเทศ โดยได้เตรียมการยื่นขอใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบธุรกิจโรงผลิตไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ด้วย
นายชำนาญ กล่าววว่า เม็ดเงินที่บริษัทจะใช้ในการลงทุน เบื้องต้นจะมาจากการใช้สิทธิแปลงสภาพใบสำคัญแสดงสิทธิ(วอร์แรนต์) อายุ 18 เดือนที่จะครบกำหนดเริ่มต้นแปลงสภาพได้ตั้งแต่ต้นปี 58 หากมีการแปลงครบจำนวนก็จะได้รับเงินราว 560 ล้านบาท รวมกับกระแสเงินสดคงเหลือของบริษัท และเงินกู้จากสถาบันการเงิน ซึ่งหากถ้าไม่เพียงพอก็จะมีการออกหุ้นเพิ่มทุนใหม่เพื่อเสนอขายแบบเฉพาะเจาะจง(PP)ภายในครึ่งแรกปี 58
"ถ้าถึงกำหนดแปลงสภาพวอร์แรนท์ครั้งแรกต้นปี ผู้ถือหุ้นมาใช้สิทธิน้อยได้เงินน้อยก็อาจจะออก PP ซึ่งแผนการระดมทุนทั้งหมดนี้ ขณะนี้ทางที่ปรึกษาทางการเงินอยู่ระหว่างการพิจารณา"นายชำนาญ กล่าว
สำหรับแผนงานของปี 58 บริษัทตั้งเป้ารายได้รวมที่ 1,300 ล้านบาทใกล้เคียงปี 57 ภายใต้คาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศที่ 4% ซึ่งจะยังไม่นับรวมรายได้จากธุรกิจพลังงานทดแทน เพราะยังต้องรอสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA)จากภาครัฐก่อน โดยหากเป็นไปตามแผนงานก็คาดว่ารายได้ในปีนี้อาจจะเพิ่มขึ้นไปที่ 1,500 ล้านบาท
"ปี 58 ถ้า PPA ออกเร็วก็จะเห็นการขายแผงมูลค่าหลายร้อยล้านบาท เพราะแผงติดตั้งเกือบสุดท้าย ซึ่งถ้า PPA ของรัฐบาลออกเร็ว ขายได้ รับรู้รายได้ก็จะเร็ว"นายชำนาญ กล่าว
ขณะที่ผลประกอบการในปี 57 คาดว่ารายได้และกำไรจะต่ำกว่าปีก่อน โดยรายได้คาดไว้ที่ 1,300 ล้านบาท จากปีก่อนอยู่ที่ 1,500 ล้านบาท เป็นไปตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมก่อสร้างและความต้องการวัสดุก่อสร้าง ซึ่งบริษัทมองแนวโน้มในปี 58 ก็ยังทรงตัว โดยเฉพาะจากการชะลอตัวของภาคส่งออก และอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ยังติดลบต่อเนื่อง รวมทั้งเครื่องมือเกษตรและวัสดุก่อสร้าง
อย่างไรก็ตาม บริษัทก็พยายามหากลุ่มลูกค้าใหม่เช่น กลุ่มที่ใช้แผ่นอลูมิเนียมหลังคาที่จะขายอุปกรณ์ควบคู่ไปกับธุรกิจโซลาร์เซลล์
ส่วนจะมีแผนจะนำ บริษัท โซลาร์ พีพีเอ็ม จำกัด เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หรือไม่ คงต้องรอดูสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ก่อน