(เพิ่มเติม) PTG ร่วมทุน 3 พันธมิตรสร้าง"ปาล์มคอมเพล็กซ์" 4.8 พันลบ.คาดแล้วเสร็จปี 60

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday December 8, 2014 12:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพิทักษ์ รัชกิจประการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. พีทีจี เอ็นเนอยี (PTG) เปิดเผยว่า พีทีจี ได้ร่วมลงนามกับพันธมิตรจำนวน 3 ราย ซึ่งได้แก่ กลุ่มบริษัท ท่าฉางอุตสาหกรรม หรือ ทีซีจี (TCG) บริษัท โอพีจีเทค จำกัด และ บริษัท อาร์แอนด์ดี เกษตรพัฒนา จำกัด เพื่อจัดตั้งบริษัทขึ้นมาดำเนินธุรกิจในโครงการอุตสาหกรรมปาล์ม คอมเพล็กซ์(Palm Complex) ซึ่งถือว่าเป็นธุรกิจผลิตปาล์มน้ำมันครบวงจรแห่งแรกของประเทศไทยที่ทันสมัยที่สุด

ทั้งนี้ แบ่งสัดส่วนลงทุน ได้แก่ บมจ.พีทีจี เอ็นเนอยี 35% กลุ่มบริษัทท่าฉางอุตสาหกรรม 45% บริษัท โอพีจีเทค จำกัด10 % และบริษัทอาร์แอนด์ดี เกษตรพัฒนา จำกัด 10% มูลค่าการลงทุนทั้งหมดในโครงการรวมทั้งหมดประมาณ 4,800 ล้านบาท บนพื้นที่ประมาณ 1,000 ไร่ อำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ คาดว่าโครงการปาล์ม คอมเพล็กซ์นั้น สามารถเริ่มดำเนินการได้ในปี 58 และจะแล้วเสร็จในปี 60

นายพิทักษ์ กล่าวว่า บริษัทไม่จำเป็นต้องมีการเพิ่มทุนเพื่อนำมาลงทุนในโครงการดัวกล่าว เพราะ PTG จะใช้เงินลงทุนในโครงการดังกล่าวราว 500 ล้านบาทร่วมกับพันธมิตรทั้ง 3 ราย โดยจะมีการจัดบริษัทใหม่ขึ้นมา คือ บริษัท พีพีพี กรีน ตอมเพล็กซ์ ที่มีทุนจดทะเบียนราว 200 ล้านบาท และจะเพิ่มขึ้นเป็น 800 ล้านบาทในช่วงต้นปี 58 จากนั้นจะมีการเพิ่มทุนเป็น 1.6 พันล้านบาทในระยะต่อไป

"เราไม่จำเป็นที่จะต้องเพิ่มทุนแต่อย่างใด เพราะเราใช้เงินลงทุนในโครงการนี้เพียง 500 กว่าล้านบาท เงินดังกล่าวก็จะมาจากเงินสดของบริษัทฯส่วนหนึ่ง และส่วนที่เหลือก็จะมาจากเงินกู้ เพื่อใช้เงินตามการเพิ่มทุนจดทะเบียนที่ค่อยๆเพิ่มขึ้น"นายพิทักษ์ กล่าว

โครงการดังกล่าว คาดว่าจะให้ผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) 20% เป็นโครงการร่วมทุนที่พันธมิตรทุกฝ่ายเล็งเห็นถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยโครงการดังกล่าวจะดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลผลิตจากอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันครบวงจร ประกอบด้วยหน่วยผลิตต่างๆ ตั้งแต่ สวนปาล์ม โรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบ โรงกลั่นน้ำมันปาล์ม โรงผลิตไบโอดีเซล โรงแยกไข โรงบรรจุน้ำมันปาล์มเพื่อบริโภค แหล่งกำเนิดพลังงานและไอน้ำ คลังเก็บน้ำมัน และสาธารณูปโภคพื้นฐาน บนพื้นที่ประมาณ 1,000 ไร่ อำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

นายพิทักษ์ กล่าวต่อว่า กลุ่มพันธมิตรต่างเห็นพ้องกันการที่จะสร้างโรงงานผลิตภัณฑ์ปาล์มน้ำมันอย่างครบวงจร โดยมีแผนการลงทุนที่ครอบคลุมไปเพื่อรองรับการขยายเฟส 2 ด้วย ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าของผลผลิตปาล์มเพิ่มมากยิ่งขึ้น พร้อมมุ่งมั่นที่จะก้าวสู่ผู้นำอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันระดับประเทศและระดับภูมิภาคในอนาคต โดยคาดว่าโครงการปาล์ม คอมเพล็กซ์นั้น สามารถเริ่มดำเนินการได้ในปี 58 และจะแล้วเสร็จในปี 60 ในขณะที่โรงบรรจุน้ำมันปาล์มเพื่อการบริโภคนั้น มีความสามารถในการผลิตประมาณ 200 ตันต่อวัน และโรงผลิตไบโอดีเซลมีกำลังการผลิตสูงสุดได้ถึง 4 แสน 5 หมื่นลิตรต่อวัน

ด้านนายพงศ์นเรศ วนสุวรรณกุล กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัทท่าฉางอุตสาหกรรม(TGC) ในฐานะผู้เชี่ยวชาญ และผู้มีประสบการณ์ในธุรกิจด้านโรงสกัดน้ำมันปาล์มมายาวนานกล่าวว่านับเป็นสิ่งที่ดีที่มีการรวมกลุ่มสำหรับผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มและที่เกี่ยวข้อง จัดตั้งโครงการปาล์ม คอมเพล็กซ์ โดยเชื่อว่าการรวมตัวของพันธมิตรเหล่านี้จะช่วยให้ทุกฝ่ายได้รับผลดีโดยเฉพาะในเรื่องของต้นทุนการผลิตที่ต่ำเนื่องจากโครงการปาล์ม คอมเพล็กซ์ที่เป็นศูนย์รวมของธุรกิจปาล์มน้ำมันตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำครอบคลุมทั้งหมดและประเมินว่าจะสามารถยกระดับอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มให้ทัดเทียมกับในภูมิภาคและในตลาดโลกได้

นายเศรษฐ์ฐ พัฒนมาศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โอพีจีเทค จำกัด ในฐานะที่บริษัทมีประสบการณ์ในการผลิต (กลั่น) และจำหน่ายน้ำมันปาล์มเพื่อการบริโภคและจำหน่ายน้ำมันปาล์มดิบให้กับธุรกิจไบโอดีเซล ทำให้การมาจับมือกับพันธมิตรทั้งหมดที่มีจุดแข็ง จุดเด่นที่แตกต่างกัน ถือว่าเป็นการผนึกกำลังที่สำคัญในการจัดตั้งโครงการปาล์ม คอมเพล็กซ์โดยเชื่อว่าจะเป็นการสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มของประเทศไทยที่เป็นการยกระดับขึ้นเป็นหนึ่งในผู้นำในภูมิภาค

นางสาวภัคจิรา รัชกิจประการ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อาร์แอนด์ดี เกษตรพัฒนา จำกัด ในฐานะผู้มีประสบการณ์ด้านธุรกิจจัดหาเมล็ดพันธุ์และเพาะกล้าปาล์ม กล่าวว่า นับเป็นนิมิตหมายที่ดีที่มีผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องในธุรกิจน้ำมันปาล์มในแต่ละด้านมารวมกันจัดตั้งปาล์ม คอมเพล็กซ์ โดยเชื่อว่าในระยะยาวจะทำให้อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนและรองรับกับทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร ผู้ปลูกปาล์ม ผู้ผลิตน้ำมันปาล์มทั้งโรงสกัดและโรงกลั่นหรือผู้นำไปใช้ต่อยอดในอุตสาหกรรมพลังงานและผู้บริโภคที่ใช้น้ำมันปาล์มโดยรวมถือว่าทุกฝ่ายได้รับประโยชน์ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีสำหรับประเทศไทยด้วย

“นอกจากนั้นในส่วนของ โอพีจีเทค ก็ถือว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ด้านการตลาดในการขายน้ำมันปาล์มรวมถึงยังมีความเชี่ยวชาญด้านโรงกลั่นน้ำมันปาล์มเพื่อการอุปโภคและบริโภคด้วยรวมถึงยังมีพาทเนอร์ต้นน้ำคือบริษัท อาร์แอนด์ดี ที่มีความรู้เรื่องเมล็ดพันธุ์และกล้าปาล์มซึ่งถือว่ามีความสำคัญในการพัฒนา ให้ผลผลิตปาล์มโดยรวมของประเทศในอนาคต ที่จะส่งผลต่อความมั่นคงทางด้านพลังงานและการบริโภคอุปโภคที่เกี่ยวข้องกับการใช้น้ำมันปาล์มของประเทศและยังเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มของประเทศให้ก้าวขึ้นสู่ระดับภูมิภาคด้วย" นางศรัณยา กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ