ทั้งนี้ บริษัทมีแผนนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปใช้ในการซื้อโรงไฟฟ้าเพิ่มเติม ตามแผนการขยายกำลังการผลิต ซึ่งขณะนี้บริษัทถือหุ้นในโรงไฟฟ้าพลังน้ำ 7 แห่ง กำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 387 เมกะวัตต์ ได้แก่ Nam Ngum 1 กำลังการผลิต 155 เมกะวัตต์, Nam Mang 3 กำลังการผลิต 40 เมกะวัตต์, Nam Leuk กำลังการผลิต 60 เมกะวัตต์, Selabem กำลังการผลิต 5 เมกะวัตต์, Xexet 1 กำลังการผลิต 45 เมกะวัตต์, Xexet 2 กำลังการผลิต 76 เมกะวัตต์, Nam Song กำลังการผลิต 6 เมกะวัตต์
รวมทั้งถือหุ้นในโครงการ IPP จำนวน 4 แห่ง กำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 494 เมกะวัตต์ ได้แก่ Theun Hinboun ถือหุ้น 60% กำลังการผลิต 300 เมกะวัตต์, Nam Ngum 2 ถือหุ้น 25% กำลังการผลิต 154 เมกะวัตต์, Houay Ho ถือหุ้น 20% กำลังการผลิต 30 เมกะวัตต์ และ Nam Lik 1-2 ถือหุ้น 10% กำลังการผลิต 10 เมกะวัตต์
นายบุญอุ้ม สีวันเพ็ง ผู้อำนวยการ EDL-GEN ซึ่งเป็นบริษัทผลิตไฟฟ้าสำหรับใช้ในประเทศที่ใหญ่ที่สุดของ สปป.ลาว เปิดเผยว่า การระดมทุนในไทยครั้งนี้จะสนับสนุนศักยภาพของบริษัทในการพัฒนาแหล่งผลิต เพื่อรองรับความต้องการด้านพลังงานไฟฟ้าในลาวซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงการส่งออกพลังงานไฟฟ้าไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ไทย เวียดนาม และกัมพูชา ทั้งนี้ บริษัทอาจพิจารณาการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ไทยในรูปแบบอื่นที่เหมาะสมในอนาคตด้วย
ด้านนายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง เปิดเผยว่า รัฐบาลได้วางนโยบายในการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านตลาดตราสารหนี้ในภูมิภาค รวมถึงเป็นศูนย์กลางด้านการลงทุนและการระดมทุนให้กับประเทศต่างๆ ในภูมิภาค ซึ่งความสำเร็จของการออกตราสารหนี้สกุลเงินบาทของ EDL-GEN จะเป็นตัวอย่างให้ภาครัฐและเอกชนอื่นในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง(CLMV)ให้ความสนใจระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ของไทยในอนาคต และสามารถสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจร่วมกันในภูมิภาค(Inclusive Growth)ด้วย
ขณะที่นายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) กล่าวว่า การออกบาทบอนด์ของต่างประเทศในครั้งนี้ เป็นการตอกย้ำความสำเร็จที่จะทำให้ตลาดทุนไทยเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงตลาดทุนในภูมิภาค โดยเปิดให้ภาครัฐและเอกชนเข้ามาระดมทุนเสนอขายหลักทรัพย์และจดทะเบียนในตลาดทุนไทยได้สะดวก และสร้างกฎเกณฑ์ให้เครื่องมือระดมทุนของไทยด้วย