นายธิติวรการ เงินนำโชค กรรมการผู้จัดการ QTCME เปิดเผยว่า บริษัทได้ทำการแต่งตั้ง APM เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน เพื่อเตรียมความพร้อม และวางแผนธุรกิจให้กับบริษัท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดโครงสร้างธุรกิจ โครงสร้างทางการเงิน และปรับปรุงมาตรฐานบัญชีเพื่อรองรับการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เพื่อนำเงินระดมทุนมาพัฒนาความพร้อมในการขยายงานสู่ตลาดอาเซียน โดยบริษัทฯมีเป้าหมายที่จะก้าวขึ้นเป็น 1 ใน 10 ของผู้ให้บริการงานวิศวกรรมระบบที่ดีที่สุดในตลาดอาเซียน ภายใน 5 ปี ปัจจุบันบริษัทมีทุนจดทะเบีไนที่ชำระแล้ว 50 ล้านบาท
บริษัท คิวทีซี เอ็มอี จำกัด ดำเนินธุรกิจรับเหมางานระบบประกอบอาคารขนาดใหญ่ ด้านงานระบบไฟฟ้าและสื่อสาร, ระบบปรับอากาศและระบายอากาศ. ระบบสุขาภิบาล, ระบบดับเพลิง, ระบบวัดคุม สำหรับโครงการ งานอาคารขนาดใหญ่, ห้างสรรพสินค้า, โรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โรงผลิตไฟฟ้า และโครงการรถไฟฟ้า ด้วยประสบการณ์กว่า 14 ปี และยึดหลักการดำเนินงานแบบ “TRUST CAN BE TOUCHED" จึงได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าทั้งภาครัฐ และเอกชน อาทิ ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ, สนามบินภูเก็ต, โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน, เดอะไนน์ ทาวเวอร์, อาคารสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ยูนิลีเวอร์ (ยูเพลส), สีลมคอมเพล็กซ์, โรงงานยาสูบแห่งใหม่, ห้างสรรพสินค้าชั้นนำ, อาคารสำนักงาน, โรงพยาบาล, โรงงานอุตสาหกรรม และโรงงานผลิตไฟฟ้า เป็นต้น โดยสัดส่วนรายได้หลักของบริษัทฯมาจากธุรกิจรับเหมางานระบบทุกประเภท
ภาพรวมอุตสาหกรรมในปี 58 ภาคการก่อสร้างน่าจะกลับมาขยายตัวอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะการลงทุนและการเบิกจ่ายภาครัฐที่จะเติบโตมากกว่าปี 57 จากงบประมาณ 5.5 แสนล้านบาทที่กำลังอัดฉีดเข้าในระบบ หลังจากที่ชะลอตัวตั้งแต่ปี 56-57 ประกอบกับการปรับตัวลงของราคาน้ำมันในตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง ที่ส่งผลให้ปัจจัยต้นทุนการผลิตต่ำลง เกื้อหนุนภาคส่งออกและการลงทุนในอุตสาหกรรมมีภาพรวมที่ดีขึ้น โดย QTCME จะได้รับอานิสงส์จากปัจจัยต่างๆเหล่านี้ ซึ่งจะส่งผลให้การดำเนินงานของบริษัทเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา บริษัทฯมีรายได้ประมาณ 600 ล้านบาทในปี 56 และเติบโตประมาณ 30% ในปี 57 ส่งผลให้บริษัทคาดว่าจะมีรายได้รวมประมาณ 800 ล้านบาท ซึ่งบริษัทมีทิศทางเติบโตอย่างต่อเนื่องโดยบริษัทคาดว่าในปี 58 จะเติบโตประมาณ 50% โดยตั้งเป้าหมายรายได้ประมาณ 1.2 พันล้านบาท ซึ่งในปัจจุบันบริษัทมีงานในมือรอรับรู้รายได้ (Backlog) ประมาณ 2 พันล้านบาท โดยมีสัดส่วนงานจากภาคเอกชน 80% และสัดส่วนงานภาครัฐ 20% ซึ่ง Backlog ดังกล่าวนั้นจะทยอยรับรู้ไปถึงปี 60