ทั้งนี้ เมื่อครบกำหนด 1 ปีบริษัทจะต้องพิจารณาแนวทางจัดหาแหล่งเงินทุนมาชำระคืนหนี้ระยะสั้นดังกล่าว แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะเป็นการกู้เงินระยะยาวจากสถาบันการเงิน การเพิ่มทุน หรือออกหุ้นกู้ โดยจะพิจารณาแนวทางที่มความเหมาะสมทุกรูปแบบในการปรับโครงสร้างทางการเงิน ซึ่งแนวทางที่เลือกขะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นเป็นหลัก
นายธีรพงศ์ กล่าวว่า การจ่ายเงินซื้อกิจการบัมเบิลบีจะทำให้อัตราหนี้สินต่อทุน(D/E) ของบริษัทเพิ่มเป็น 2 เท่า จากปัจจุบันอยู่ที่ 0.8 เท่า ขณะที่นโยบายของบริษัทจะรักษาระดับ D/E ไว้ที่ไม่เกิน 1.1 เท่า หากสูงเกินจากระดับดังกล่าวบริษัทก็จะเน้นเรื่องวินัยการเงินมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ผลประโยชน์จากการซื้อกิจการบัมเบิลบีจะช่วยหนุนรายได้รวมและกำไรของบริษัทให้ดีขึ้น โดยเฉพาะการสร้างรายได้ให้เป็นไปตามเป้าหมาย 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 58 จะไม่เป็นคำถามอีกต่อไป และเชื่อว่าปี 63 รายได้จะเพิ่มเป็น 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐได้ง่ายขึ้น จากปีนี้คาดว่ารายได้น่าจะทำได้ 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐตามเป้าหมาย
ขณะที่อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทเฉลี่ยปี 58 น่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 17-18% และเข้าสู่ระดับ 20% ในปี 63 จากปัจจุบันอยู่ที่ 15-17% เนื่องจากอัตรากำไรขั้นต้นของบัมเบิลบีอยู่ที่สูงกว่า 20% ซึ่งจะส่งผลดีต่อค่าเฉลี่ยอัตรากำไรของ TUF ซึ่งสาเหตุที่บัมเบิลบีมีอัตรากำไรขั้นต้นสูง เพราะความเป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่ง รวมทั้งฐานการตลาดแข็งแกร่งและมีการเข้าสู่แหล่งวัตถุดิบทั่วโลกได้ดี โดยภายหลังจากการซื้อบัมเบิลบีไม่จำเป็นต้องเพิ่มบุคลากรเพราะมีทีมงานที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว
"การเข้าซื้อบัมเบิลบี เป็นการเสริมธุรกิจในอเมริกาเหนือและช่วยให้มีฐานการตลาดในแคนาดาเพิ่มขึ้นด้วยจากที่ไม่เคยมีมาก่อน หลังเข้าไปบริหารจัดการแล้วเราหวังอัตรากำไรขั้นต้นเฉลี่ยที่ 20% จากการผลิตสินค้ามูลค่าสูง การลงทุนในสินค้าใหม่ ธุรกิจใหม่จะเข้ามาเสริม จากปัจจุบันอัตรากำไรขั้นต้นของเราอยู่ที่ 15-17% จากเดิมมีคำถามว่าเป้า 8,000 ล้านเหรียญฯในปี 63 จำเป็นต้องทำธุรกิจอื่นหรือไม่ วันนี้ตอบเลย โอกาสในการทำธุรกิจอาหารทะเลยังมีอีกมากที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายของเราได้"นายธีรพงศ์ กล่าว
นอกจากนี้ ในปี 58 บริษัทจะให้ความสำคัญกับการวางกลยุทธ์การตลาดกับตลาดเกิดใหม่มากขึ้นเพราะที่ผ่านมาไม่ได้ให้ความสนใจมากเท่าที่ควร เช่น ตลาดตะวันออกกลาง อเมริกาใต้ และอาเซียน ซึ่งเป็นตลาดที่ยังมีความต้องการสินค้าประเภทอาหารทะเลสำเร็จรูปค่อนข้างมาก ส่วนเงินบาทที่อ่อนค่าในขณะนี้เป็นระดับที่หนุนการส่งออกได้ดี รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยต่ำและราคาน้ำมันที่ปรับลดลงช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆ ได้ดี
ส่วนการซื้อกิจการเพิ่มเติมหลังซื้อบัมเบิลบีแล้วนั้น นายธีรพงศ์ มองว่าภายใน 1-2 ปีนี้การซื้อกิจการใหม่จะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ทั้งสถานการณ์การเงินหากไม่พร้อมก็ไม่จำเป็น แต่สิ่งสำคัญคือต้องทำให้แบรนด์ในมือแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น