สำหรับแนวทางดำเนินการของแผนปฏิรูปจะมีการเพิ่มรายได้ทุกช่องทางทั้งผ่านตัวแทนจำหน่ายตั๋วโดยสาร และการขายผ่านอินเตอร์เน็ต พร้อมกับงดบินจุดบินชั่วคราวในบางเส้นทางขาดทุน ได้แก่ กรุงเทพ-โจฮันเนสเบิร์ก เป็นต้น ซึ่งหากบริษัทฟื้นตัวได้แล้วก็จะกลับมาเปิดบินอีกครั้ง ขณะเดียวกันก็จะเพิ่มความถี่ในจุดบินหลัก รวมทั้งปรับโครงสร้างองค์กรที่สามารถทำให้การตัดสินใจทำได้เร็วขึ้นเพื่อให้เกิดความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น
"ในปี 2015 การบินไทยขอเวลากับผู้โดยสาร เพราะปีที่ต้องปรับตัว เราต้องลด destination บางจุดเพื่อเป้าหมายในอนาคต ขอให้อดทนกับเราสักประมาณ 1 ปี คาดว่าจะกลับมาบินใหม่ได้"นายจรัมพร กล่าว
นอกจากนี้ ตามแผนดังกล่าว บริษัทยังมีการกำหนดให้สายการบินไทยสมายล์เป็นหนึ่งในกลยุทธ์หลักของการบินไทย โดยวาง Positioning สายการบินไทยสมายล์ไว้เป็นส่วนเสริมของบริการการบินไทยในลักษณะ Feeder ที่จะมีเส้นทางการบินเชื่อมต่อกับเส้นทางของการบินไทย
และ บริษัทจะมีการทบทวนแผนรับมอบเครื่องบินใหม่ในปีหน้า โดยปัจจุบันบริษัทมีเครื่องบินที่ปลดระวางแล้วจำนวนกว่า 10 ลำ ซึ่งอยู่ในกระบวนการขาย ขณะเดียวกันบริษัทยังมีการบันทึกการด้อยค่าของทรัพย์สินหรือเครื่องบินที่ยังขายไม่ได้
"ดูในแผนจะมีเรื่องที่ต้องทำเยอะ ปีหน้าต้องดีกว่าปีนี้แน่นอน คือกำไรจากผลการดำเนินงาน แต่อย่าลืมเราก็มีต้นทุนที่ต้องตัดจ่าย one time"กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ กล่าว
นายจรัมพร ยังกล่าวถึงผลการดำเนินงานในไตรมาส 4/57 ว่า จำนวนผู้โดยสารโดยรวมลดลงเมื่อเทียบจากปีที่แล้ว โดยเฉพาะผู้โดยสารจากยุโรป เนื่องจากเศรษฐกิจยังไม่ ดีนัก ส่วนราคาน้ำมันที่ลดลงช่วยให้ต้นทุนลดลง แต่จะมากน้อยเพียงใดขึ้นกับขนาดของทำประกันความเสี่ยง(Headging)