ทั้ง 3 ค่ายมีความเห็นร่วมกันในการเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ระบบ 4G เพื่อให้มีคลื่นความถี่มากพอให้บริการประชาชนที่มีความต้องการอย่างเร่งด่วน รวมมถึงการให้บริการดาต้าที่มีคุณภาพสูงตอบสนองกับความต้องการคลื่นที่มากขึ้น ซึ่งการประมูลคลื่นความถี่ในปี 58 ควรจะประมูลคลื่นที่นำมาจัดสรรได้มากที่สุด ทั้งความถี่ที่ว่างและไม่ได้ใช้งาน ดังนั้น ไม่ใช่เพียงแค่ประมูลคลื่น 900MHz และ 1800MHz ที่อยู่ในแผนเท่านั้น แต่ควรนำคลื่น 1800MHz อีก 25MHz มาร่วมประมูลพร้อมกัน
สำหรับการให้บริการ 4G ไม่ใช่เพียงแค่คลื่นความถี่สูง 1800MHz เท่านั้น แต่ควรต้องรวมถึงย่านคลื่นความถี่ต่ำ ได้แก่ 850MHz และ 900MHz ที่สมควรนำมาใช้ให้บริการด้านโทรคมนาคม โดยทางเอไอเอส มองว่าควรเปิดประมูลคลื่นความถี่ช่วง 25-30 MHz ส่วนดีแทค มองว่าควรเป็นช่วง 15 MHz ขณะที่ทรูมูฟ เอส มองว่า 20MHz
นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส(ADVANC) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า การที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะจัดสรรประมูล 4G บนคลื่นความถี่นั้น ผลที่จะตามมาผู้ได้รับประโยชน์คือประเทศและประชาชนคนไทที่จะเกิดการพัฒนายกระดับคุณภาพมาตรฐานโครงสร้างพื้นฐานเทียบเท่าสากล เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ที่มีมูลค่ามหาศาลจากการขยายการลงทุนสู่ทุกภาคอุตสาหกรรม เห็นได้ชัดคือรายได้จากการประมูลที่จะนำไปพัฒนาด้านต่าง ๆ อีกทั้งยังเป็นการยกระดับภาพลักษณ์ของประเทศในการมีโครงสร้างพื้นฐานที่เทียบเท่าระดับสากล
"การประมูล 4G เป็นจุดเริ่มต้นของมือถือที่เป็นเหมือนคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กที่จะช่วยส่งเสริมการศึกษา ในวันนี้ที่เรามาพูดคุยกัน เพราะมีความตั้งใจอยากให้เอกชนเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เชื่อว่าเศรษฐกิจต้องก้าวไปข้างหน้าและรอไม่ได้ ต้องมีการแข่งขันกับต่างประเทศ "นายสมชาย กล่าว
ด้านนายซิคเว่ เบรคเก้ รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น(DATC) หรือ ดีแทค กล่าวว่า จำนวนผู้ใช้งานและจำนวนการใช้งานดาต้าในประเทศไทยจะเติบโตต่อเนื่อง คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจาก 35% ในปี 57 เป็น 61% ในปี 60 ดังนั้น เพื่อตอบสนองความต้องการใช้งานดาต้าที่เติบโตสูงอย่างรวดเร็ว จึงต้องให้ความสำคัญมากขึ้นกับการปลดล็อกคลื่นความถี่ ทางออกที่เราขอเสนอในวันนี้จะช่วยให้เกิดประโยชน์สูงสุดตรงกับความต้องการใช้งานสำหรับลูกค้า รัฐบาลและสังคมโดยรวม ดังนั้น การประมูลคลื่นความถี่ในปี 58 ที่จะนำคลื่นความถี่ที่ว่างและไม่ได้ใช้งาน ตลอดจนถึง การนำย่านคลื่นความถี่ต่ำ ได้แก่ 850MHz และ 900MHz มาใช้ให้บริการงานด้านโทรคมนาคมอันจะก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดสำหรับภาครัฐที่ต้องการนำบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและการติดต่อสื่อสารสู่สังคมเมืองและชนบททั่วประเทศ
นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น(TRUE) หรือ ทรูมูฟ กล่าวว่า กสทช. แสดงเจตนารมณ์ชัดเจนที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยก้าวสู่ยุค 4G ซึ่งจำเป็นต้องเร่งจัดสรรคลื่นความถี่ 1800 MHz และ 900 MHz ที่เป็นทรัพยากรของประเทศมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการวางแผนและการนำคลื่นความถี่ที่มีทั้งหมดมาจัดสรรใหม่อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ (Frequency Refarming)จะเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาประเทศให้พร้อมเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค อีกทั้งโครงข่ายโทรคมนาคมเช่นโมบายล์บรอดแบนด์ ถือเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านโทรคมนาคมในยุคดิจิทัล เช่นเดียวกับสาธารณูปโภครถไฟความเร็วสูงของประเทศ โดยจะสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของภาครัฐ ในการนำไอซีทีมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้เป็นอย่างดี
พร้อมกันนี้ผู้ประกอบการทั้ง 3 รายระบุว่ายินดีหากหากจะมีผู้เข้าประมูลมากกว่า 3 ราย เนื่องจากเป็นการประมูลในระบบที่เปิดกว้าง ซึ่งภาครัฐควรจะให้การสนับสนุกและชักชวนให้มีผู้เข้าร่วมประมูลมากที่สุด รวมไปถึงภาครัฐวิสาหกิจอย่าง TOT และ CAT โดยเชื่อมั่นว่าหลังการประมูลเกิดขึ้นจะประสบความสำเร็จ และจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐที่ต้องการสนันสนุนให้เกิดเป็นเศรษฐกิจ ดิจิทัล