อันดับเครดิตยังคงสะท้อนสถานะของบริษัทในการเป็นผู้ค้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว (Liquefied Petroleum Gas - LPG) ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ในประเทศไทย รวมถึงการมีเครือข่ายกระจายสินค้าที่แข็งแกร่ง และฐานลูกค้าที่กระจายตัวกว้างขวาง อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตถูกลดทอนบางส่วนจากความเสี่ยงของธุรกิจที่สูงขึ้นจากการดำเนินกิจการในต่างประเทศซึ่งทำให้บริษัทเผชิญกับความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาก๊าซ LPG มากขึ้น และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างราคาก๊าซ LPG ในประเทศไทย
ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะยังคงสามารถรักษาสถานะผู้ค้าก๊าซ LPG รายใหญ่อันดับ 2 ในประเทศไทยเอาไว้ได้ โดยกระแสเงินสดที่แน่นอนจากการค้าก๊าซ LPG ในประเทศไทยจะช่วยลดผลกระทบจากกำไรที่ผันผวนของการดำเนินงานในต่างประเทศได้ SGP ก้อตั้งในปี 2544 โดยกลุ่มตระกูลวีรบวรพงศ์ และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2551 ณ เดือนกันยายน 2557 กลุ่มตระกูลวีรบวรพงศ์ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของบริษัทในสัดส่วน 61% บริษัทเป็นผู้ค้าก๊าซ LPG รายใหญ่อันดับ 2 ในประเทศไทย โดยธุรกิจในประเทศไทยประกอบด้วยการค้าก๊าซ LPG ภายใต้ตราสัญลักษณ์ “สยามแก๊ส" และ “ยูนิคแก๊ส" ณ เดือนสิงหาคม 2557 กลุ่มบริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดตามปริมาณการขาย LPG อยู่ที่ 24% รองจาก บมจ.ปตท.(PTT) ซึ่งมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ 35%
บริษัทมีโครงข่ายการกระจายสินค้าที่แข็งแกร่งทั่วประเทศ โดย ณ เดือนมิถุนายน 2557 บริษัทมีคลังเก็บก๊าซ LPG จำนวน 7 แห่ง มีโรงบรรจุก๊าซ LPG จำนวน 184 แห่ง และมีสถานีบริการก๊าซ LPG สำหรับยานยนต์จำนวน 558 สถานี นอกจากนี้ บริษัทยังมีระบบขนส่งที่หลากหลายโดยให้บริการขนส่งสินค้าทั้งทางบกและทางทะเลเพื่อสนับสนุนธุรกิจค้าก๊าซ LPG ของบริษัท
ปริมาณจำหน่ายก๊าซ LPG ของบริษัทลดลง 3.7% เมื่อเทียบปีต่อปี โดยอยู่ที่ประมาณ 1.21 ล้านตันในปี 2556 ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2557 บริษัทจำหน่ายก๊าซ LPG ประมาณ 0.75 ล้านตัน ซึ่งลดลง 8.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปัจจุบันส่วนแบ่งทางการตลาดของบริษัทอยู่ที่ 24% ลดลงจาก 27% ในปี 2555 ซึ่งเป็นผลมาจากการแข่งขันที่รุนแรงจากผู้ค้าก๊าซ LPG รายใหม่ในกลุ่มยานยนต์เป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม สถานะทางการตลาดของบริษัทในกลุ่มครัวเรือนและกลุ่มอุตสาหกรรมยังคงแข็งแกร่งโดยเห็นได้จาก การที่บริษัทสามารถรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดได้ในช่วงระยะ 3 ปีที่ผ่านมา ณ เดือนสิงหาคม 2557 บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดในกลุ่มครัวเรือนอยู่ที่ 29% และในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ 22% ในขณะที่ส่วนแบ่งทางการตลาดในกลุ่มยานยนต์ยังคงลดลงอยู่ที่ 18% จากประมาณ 20% ณ สิ้นปี 2556
บริษัทขยายธุรกิจค้าก๊าซ LPG ไปยังต่างประเทศตั้งแต่ปี 2553 โดยบริษัทเป็นเจ้าของคลังเก็บก๊าซใต้ดินขนาดใหญ่ 2 แห่งในประเทศจีนเพื่อใช้กักเก็บก๊าซ LPG ซึ่งมีความสามารถในการเก็บก๊าซ LPG ได้ทั้งสิ้น 300,000 ตัน นอกจากนี้ บริษัทยังมีคลังลอยน้ำที่ประเทศสิงคโปร์ซึ่งมีขนาดบรรจุ 45,000 ตันเพื่อสนับสนุนการค้าก๊าซ LPG ของบริษัทในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย ในปี 2556 ปริมาณการจำหน่ายก๊าซ LPG ในตลาดต่างประเทศอยู่ที่ 1.43 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 64% จากปี 2555 อย่างไรก็ดี ในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 ปริมาณการจำหน่ายลดลงประมาณ 9% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยอยู่ที่ 0.52 ล้านตัน อันเป็นผลมาจากอุปสงค์ที่ชะลอตัวและราคาก๊าซในตลาดโลกที่ลดลง
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 บริษัทมีรายได้รวมเท่ากับ 45,453 ล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับรายได้ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะเดียวกัน อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงาน (ก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้) ลดลงเหลือ 1.8% ซึ่งต่ำกว่าอัตราเต็มปีในปี 2556 ที่ระดับ 3.2% อัตรากำไรที่ลดลงเป็นผลมาจากราคาก๊าซ LPG ซึ่งลดลงจาก 1,010 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในเดือนมกราคม 2557 มาอยู่ที่ 745 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในเดือนกันยายน 2557 ในส่วนของกระแสเงินสดนั้น บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) อยู่ที่ 1,099 ล้านบาท ลดลง 8% เมื่อเปรียบเทียบปีต่อปี
อัตราส่วนหนี้สินของบริษัทยังคงสอดคล้องกับอันดับเครดิตในปัจจุบัน โดยอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนดีขึ้นเล็กน้อยจาก 64.2% ในปี 2555 เป็น 57.2% ณ เดือนกันยายน 2557 ทั้งนี้ ระดับของโครงสร้างเงินทุนถือว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจหากเปรียบเทียบกับอัตราส่วนหนี้สินที่ก่อให้เกิดดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้นที่กำหนดไว้ในสัญญาเงินกู้ที่ระดับไม่เกิน 2 ต่อ 1 เท่า (เทียบเท่ากับอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อส่วนของผู้ถือหุ้นที่ 66.7%) ส่วนสภาพคล่องนั้นยังอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวม (ปรับเป็นอัตราส่วนเต็มปีด้วยตัวเลข 12 เดือนย้อนหลัง) อยู่ที่ 15.2% และอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายอยู่ที่ 3.3 เท่า
ในอนาคต ทริสเรทติ้งยังคงคาดว่าบริษัทจะมีรายได้ที่เติบโตโดยเฉลี่ยปีละ 5%-10% ในอีก 3 ปีข้างหน้า โดยรายได้จากการค้าในตลาดต่างประเทศซึ่งจะมีสัดส่วนประมาณ 50%-60% จะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักของการเติบโต ในขณะเดียวกัน การขยายสู่ตลาดต่างประเทศที่มากขึ้นก็จะทำให้ผลการดำเนินงานของบริษัทมีความผันแปรตามราคาก๊าซ LPG ในตลาดโลกมากขึ้นด้วย ในส่วนของอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อส่วนของผู้ถือหุ้นนั้น ในช่วง 3 ปีข้างหน้าคาดว่าจะค่อย ๆ ลดลงอย่างต่อเนื่องจากระดับปัจจุบัน