(เพิ่มเติม) PTTEP ตั้งเป้าปริมาณขายปิโตรเลียมปี 58 โต 6% แต่ราคาขายปรับลงตามน้ำม้น

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday December 25, 2014 15:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม(PTTEP) คาดปริมาณขายปิโตรเลียมปี 58 ที่ 3.43 แสนบาร์เรล/วัน เติบโตประมาณ 6% จากปี 57 ที่คาดปริมาณขาย 3.22 แสนบาร์เรล/วัน ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายเดิมที่เคยคาดว่าจะเติบโตได้ราว 10%

สาเหตุหลักของปริมาณขายที่เพิ่มขึ้นมาจากการผลิตเต็มปีของโครงการซอติก้าและโครงการของ Hess Thailand ที่บริษัทเข้าซื้อกิจการในปีนี้ รวมถึงการผลิตน้ำมันดิบจากโครงการแอลจีเรีย 433 เอ และ 416บี ที่คาดว่าจะเริ่มการผลิตครั้งแรกในไตรมาส 2/58

ทั้งนี้ PTTEP คาดราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 70 เหรียญ/บาร์เรลในปี 58 จะทำให้ราคาขายเฉลี่ยปรับลงมาที่ 53 เหรียญ/บาร์เรล จากงวด 9 เดือนแรกของปี 57 ที่มีราคาขายเฉลี่ย 66 เหรียญ/บาร์เรล ภายใต้ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยที่ 104 เหรียญ/บาร์เรล แต่หากราคาน้ำมันดิบดูไบในปีหน้าปรับลงมา 55 เหรียญ/บาร์เรล ก็คาดว่าราคาขายเฉลี่ยมีโอกาสปรับลงมาที่ 48 เหรียญ/บาร์เรล

ขณะที่ต้นทุนการผลิตรวมอยู่ที่ 42 เหรียญ/บาร์เรล ในกรณีเลวร้ายที่ราคาน้ำมันดิบดูไบลงไปมากกว่านี้และส่งผลให้ราคาขายต่ำกว่า 42 เหรียญ/บาร์เรล จะทำให้บริษัทไม่มีกำไร แต่บริษัทยังไม่มีแผนหยุดการผลิต โดยเฉพาะในแหล่งเดิมที่ทำอยู่ แต่สำหรับแหล่งใหม่คาดว่าจะชะลอออกไปก่อน ทั้งนี้ ต้นทุนการผลิตจริงอยู่ที่ 21 เหรียญ/บาร์เรล และอีก 21 เหรียญ/บาร์เรลเป็นค่าเสื่อมราคา

"บริษัทมุ่งรักษาต้นทุนไม่ให้สูงขึ้น การเจาะลึกขึ้นจะทำให้ต้นทุนการพัฒนาสูงขึ้น แต่ต้องหาวิธีทำงาน เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ภายใต้ต้นทุนที่ลดลง" นายเทวินทร์ กล่าว

ส่วนผลประกอบการในไตรมาส 4/57 ที่ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลงไปมากนั้น นายเทวินทร์ คาดว่า บริษัทจะไม่ได้รับผลกระทบมากนักเพราะบริษัทได้ทำประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันไว้ 70% ของปริมาณน้ำมันที่ขายออกไปช่วยขดเชยได้พอสมควร ซึ่งโดยปกติจะทำประกันความเสี่ยงไว้ล่วงหน้า 1 ไตรมาส

อย่างไรก็ตาม งบกำไรขาดทุนปี 57 ของบริษัทจะได้รับผลกระทบจาการบันทึกการด้อยค่าของสินทรัพย์ที่เกิดจากราคาน้ำมันปรับตัวลง โดยเฉพาะสินทรัพย์ที่เกี่ยวโยงกับน้ำมันโดยตรง ได้แก่ แหล่งมอนทารา และ แหล่งเคเคดี ออยล์แซนด์

*รอจังหวะเข้าซื้อสินทรัพย์ถูก

สำหรับปี 58 ปตท.สผ. ได้ประมาณการรายจ่ายรวมอยู่ที่ 4,832 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยกว่า 2 ใน 3 ของรายจ่ายลงทุนจะเน้นการดำเนินงานโครงการต่าง ๆ ในประเทศไทย และสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ โดยร้อยละ 52 ของการลงทุนเป็นกิจกรรมส่วนใหญ่มุ่งเน้นเพื่อรักษาระดับปริมาณการผลิตในประเทศไทย ได้แก่ โครงการอาทิตย์ โครงการเอส 1 โครงการบงกช โครงการคอนแทร็ค 4 และโครงการ MTJDA

ส่วนอีกร้อยละ 20 ของรายจ่ายลงทุนได้จัดสรรไว้สำหรับโครงการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายจ่ายสำหรับโครงการในพม่า ได้แก่ การลงทุนเพื่อรักษาระดับการผลิตของโครงการซอติก้า กิจกรรมการพัฒนาของโครงการเมียนมาร์เอ็ม 3 กิจกรรมการสำรวจเพื่อประเมินศักยภาพทางปิโตรเลียมของโครงการเมียนมาร์ พีเอสซีจี และอีพี 2 โครงการเมียนมาร์ เอ็มโอจีอี 3 และโครงการเมียนมาร์ MD-7 และ MD-8

“จากสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ผันผวนซึ่งมีผลกระทบต่อ ปตท.สผ.ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนแผน กลยุทธ์และแผนดำเนินงานของปี 58 และแผนการดำเนินงาน 5 ปี เพื่อให้บริษัทมีความยืดหยุ่นในการดำเนินธุรกิจและการลงทุน รวมถึงการทำโครงการ “SAVE…to be SAFE" เพื่อปรับลดค่าใช้จ่ายต่างๆ" นายเทวินทร์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม บริษัทยังมีสภาพคล่องทางการเงินที่ดี โดยมีเงินสดในมือจำนวน 3 พันล้านเหรียญ สามารถรองรับโอกาสใหม่ๆ ในการควบรวมหรือ เข้าซื้อกิจการที่มีศักยภาพในราคาที่เหมาะสม โดยจะให้ความสนใจเข้าซื้อกิจการในไทย เป็นอันดับแรก รองลงมาอยู่ในเอเชีย ได้แก่ เมียนมาร์ อินโดนีเซีย และ เวียดนาม ขณะเดียวกันก็ไม่ละทิ้งโครงการ shale oil shale gas ในสหรัฐ ซึ่งจะต้องเป็นแหล่งที่ผลิตหรือพิสูจน์แล้วว่ามีปริมาณมาก รวมทั้งมีตลาดอยู่แล้วด้วย

ทั้งนี้ บริษัทจะติดตามสภาวะราคาน้ำมันดิบอย่างต่อเนื่อง หากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังอยู่ในระดับต่ำ บริษัทก็สามารถปรับลดการลงทุนลงอีก เพื่อรักษาสภาพคล่องและความแข็งแกร่งในการดำเนินงานต่อไป

สำหรับงบ 5 ปีของบริษัท (ปี 58-62) จำนวน 24,295 ล้านเหรียญสหรัฐ ยังเน้นใช้ในแหล่งผลิตในประเทศเพื่อรักษาการผลิต โดยงบดังกล่าวยังไม่รวมประมาณการเงินลงทุนที่ ปตท.สผ. อาจต้องใช้เพิ่มสำหรับโอกาสทางธุรกิจ เพื่อเพิ่มปริมาณสำรองให้กับบริษัท ซึ่งงบประมาณดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาทบทวนอย่างรอบคอบ

อีกทั้งบริษัทได้จัดเรียงลำดับความสำคัญของการใช้เงินลงทุน (Prioritization) เพื่อรองรับสภาวะราคาน้ำมันที่ผันผวน ดังนี้โครงการที่มีการผลิตอยู่แล้ว จะดำเนินต่อไปเพื่อรักษาระดับการผลิต ไม่ให้กระทบต่อความต้องการใช้ปิโตรเลียมในประเทศ โครงการที่อยู่ในขั้นพัฒนามีการประเมินและปรับแผนการลงทุนให้มีความยืดหยุ่นตามสถานการณ์ราคาน้ำมัน โครงการที่อยู่ในขั้นสำรวจจะชะลอการดำเนินงานในโครงการมีความเสี่ยงสูงและไม่มีภาระผูกพันออกไปก่อน เพื่อรอเวลาที่เหมาะสมในอนาคต

*ปลายปี 58 สรุปเดินหน้าแหล่งในโมซัมบิก-M3

นายเทวินทร์ กล่าวถึงความคืบหน้าของแหล่งก๊าซในโมซัมบิกว่า อยู่ระหว่างการอนุมัติการลงทุนจากรัฐบาลโมซัมบิก และหากต้นทุนไม่สูงขึ้นจะจัดหาแหล่งเงินกู้มาใช้ในการลงทุน คาดว่าจะได้ข้อสรุปขัดเจนปลายปี 58 หรือต้นปี 59 ทั้งนี้ เห็นว่าการลงทุนแหล่งดังกล่าวมีคุ้มค่าเพราะราคา LNG ในตลาดโลกยังไม่ปรับตัวลงมากเหมือนราคาน้ำมัน

ขณะที่แหล่ง M3 ในเมียนมาร์จะขุดเจาะสำรวจเพื่อยืนยันปริมาณการผลิตให้ชัดเจน และอยู่ระหว่างเจรจาพันธมิตรเข้าร่วม คาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปในปลายปี 58

ส่วนแหล่ง cash maple ในออสเตรเลีย ที่ประเมินว่าจะมีปริมาณก๊าซ 3 ล้านลูกบาศก์เมตร(TCF) อยู่ระหว่างเลือกแนวทางการพัฒนา ได้แก่ ศึกษาพัฒนาในรูปแบบ FLNG ให้คุ้มค่ามากขึ้น ศึกษาความร่วมมืมือพัฒนากับแหล่งใกล้เคียงเพื่อให้เกิด Economy of Scale และ ศึกษาช่องทางพัฒนาก๊าซส่งผ่านท่อนำไปผลิต LNG ที่จะใช้โรงงานอื่น คาดว่าจะได้ความชัดเจนในปี 60

ขณะที่แหล่งเคเคดี ออยล์แซนด์ ที่ยังมีค่าใช้จ่ายพัฒนาสูงอยู่ในปีหน้าจะหาแนวทางพัฒนาให้ถูกลง แต่หากราคาน้ำมันดิบยังต่ำกว่า 70 เหรียญ/บาร์เรล ก็ยากที่จะพัฒนา

นายเทวินทร์ กล่าวว่า ในช่วงกลางปี 58 กลุ่ม ปตท. รวมทั้ง PTTEP จะมีการทบทวนแผนการลงทุน จากที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกน่าจะนิ่ง สำหรับ PTTEP อาจจะทบทวนเป้าหมายการผลิต 6 แสนบาร์เรล/วัน ภายในปี 63


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ