ทริสฯ เพิ่มเครดิตองค์กร-หุ้นกู้"อีซี่บาย"เป็น A-จาก BBB+ แนวโน้มคงที่

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday December 30, 2014 10:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งปรับอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บมจ. อีซี่ บาย เป็น “A-" จากระดับ “BBB+" พร้อมทั้งปรับอันดับเครดิตหุ้นกู้มีการค้ำประกันของบริษัทเป็น “A" จากระดับ “BBB+"

การปรับเพิ่มอันดับเครดิตสะท้อนถึงฐานะการเงินที่แข็งแกร่งขึ้นของทั้งบริษัทอีซี่ บาย และ ACOM Co., Ltd. ACOM เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และเป็นผู้ค้ำประกันหุ้นกู้ของบริษัท อีซี่ บาย เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2557 ACOM ได้รับการเพิ่มอันดับเครดิตจาก Standard & Poor’s เป็น “BBB-" จากระดับ “BB+" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่" ภายหลังจากมีการพิจารณาแก้ไขวิธีการพิจารณาอันดับเครดิตของบริษัทที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ที่ประกอบธุรกิจสินเชื่อในประเทศญี่ปุ่นใหม่

อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทมีความแข็งแกร่งขึ้นจากการมีฐานเงินทุน ตลอดจนฐานะทางการเงิน และคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2551 ถึง 9 เดือนแรกของปี 2557 นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงประสบการณ์ของผู้บริหารและความสามารถในการรักษาสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งของบริษัทซึ่งมีคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยด้วย อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตของบริษัทถูกจำกัดโดยอันดับเครดิตของบริษัทแม่ คือ ACOM Co., Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทให้สินเชื่อเพื่อผู้บริโภคในประเทศญี่ปุ่น

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" ของอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทสะท้อนถึงผลประกอบการของบริษัทที่ดีขึ้นอันเป็นผลมาจากคุณภาพของสินทรัพย์ที่ดีขึ้นและการควบคุมค่าใช้จ่ายที่ระมัดระวัง โดยบริษัทสามารถทำกำไรที่แข็งแกร่งในปี 2553 จนถึงช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 ซึ่งทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นเติบโตและอันดับเครดิตของบริษัทแข็งแกร่งขึ้น การบริหารความเสี่ยงด้านเครดิตที่ดีและเงินทุนที่เข้มแข็งของบริษัทช่วยลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจและการดำเนินงานในอุตสาหกรรมสินเชื่อเพื่อผู้บริโภค ตามเงื่อนไขสัญญาการค้ำประกันที่กำหนดภายใต้กฎหมายของประเทศญี่ปุ่น บริษัทแม่ผู้ค้ำประกันจะให้การค้ำประกันเต็มจำนวนแก่หุ้นกู้ที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตดังกล่าวอย่างไม่มีเงื่อนไขและไม่สามารถเพิกถอนได้หากบริษัทอีซี่ บายไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด ในกรณีที่บริษัทถูกฟ้องล้มละลายและมีการจ่ายคืนหนี้แก่ผู้ถือหุ้นกู้แต่หนี้นั้นถูกเรียกคืน ภาระการชำระหนี้ดังกล่าวจะตกเป็นของบริษัทผู้ค้ำประกันและจะมีผลในการชำระหนี้ทันที

นอกจากนี้ หาก ACOM มีการควบรวมกิจการ บริษัทใหม่ที่เกิดขึ้นหลังการควบรวมกิจการจะต้องรับภาระผูกพันในการค้ำประกันหุ้นกู้ดังกล่าวด้วย หาก ACOM ไม่สามารถจ่ายชำระได้ตามกำหนดหลังจากได้รับหนังสือบอกกล่าวแล้ว ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้สามารถดำเนินการตามกฎหมาย ณ ศาลพาณิชย์ในประเทศญี่ปุ่นเพื่อฟ้องร้องเรียกเงินที่ผิดนัดชำระคืนได้ ภาระผูกพันของผู้ค้ำประกันภายใต้สัญญาการค้ำประกันนี้จะมีลำดับของสิทธิเรียกร้องเท่าเทียมกับหนี้ไม่มีประกันและไม่ด้อยสิทธิอื่น ๆ ของผู้ค้ำประกัน

แนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่" สำหรับอันดับเครดิตหุ้นกู้มีการค้ำประกันของบริษัทอีซี่ บายสะท้อนถึงฐานะทางการเงินของ ACOM ที่ค่อย ๆ เข้มแข็งขึ้นและแนวโน้มอุตสาหกรรมการให้สินเชื่อเพื่อผู้บริโภคของประเทศญี่ปุ่นที่เริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น แม้ว่าแรงกดดันต่อผลประกอบการทางการเงินจากค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองสำหรับการคืนเงินให้แก่ลูกค้าที่จ่ายดอกเบี้ยไว้เกินมีแนวโน้มที่ลดลง แต่ยังมีแรงกดดันจากการตั้งสำรองสำหรับหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ การทบทวนอันดับเครดิตหุ้นกู้อาจมีการพิจารณาใหม่เมื่อทริสเรทติ้งเห็นการเปลี่ยนแปลงของการสนับสนุนที่ ACOM ได้รับจาก Mitsubishi UFJ Financial Group (MUFG) ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจทางการเงินที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น

ฐานะทางการเงินของ ACOM ค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ปีงบประมาณ 2555 (เมษายน 2554 - มีนาคม 2555) หลังจากขาดทุนอย่างมากถึง 203 พันล้านเยนในปีงบประมาณ 2554 แม้จะมีพอร์ตสินเชื่อและอัตราผลตอบแทนลดลง แต่บริษัทก็ยังสามารถรักษากำไรสุทธิในระดับ 21 พันล้านเยนในปีงบประมาณ 2555 และ 2556 ไว้ได้ สำหรับปีงบประมาณ 2557 (สิ้นสุดเดือนมีนาคม 2557) ACOM รายงานผลกำไรสุทธิทั้งสิ้น 11 พันล้านเยน ลดลง 49% จากปีงบประมาณ 2556 เนื่องจากการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นสาหรับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และสาหรับใช้คืนแก่ลูกค้าที่จ่ายดอกเบี้ยไว้เกิน อย่างไรก็ตาม กำไรสุทธิปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 28 พันล้านเยนสำหรับครึ่งปีแรกในปีงบประมาณ 2558 บริษัทมีการกระจายตัวไปสู่ธุรกิจการค้ำประกันสินเชื่อโดยการเป็นพันธมิตรธุรกิจร่วมกับธนาคารพาณิชย์ในญี่ปุ่น จึงมีผลให้สัดส่วนรายได้จากธุรกิจค้ำประกันสินเชื่อต่อรายได้รวมของบริษัทเพิ่มขึ้นจากสัดส่วนไม่ถึง 5% ในปีงบประมาณ 2553 เป็น 18% สำหรับครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2558

ณ เดือนกันยายน 2557 สินเชื่อรวมของบริษัทอีซี่ บายมีจำนวน 105 พันล้านเยน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 11.3% ของสินเชื่อรวมของ ACOM บริษัทอีซี่ บายเป็นบริษัทย่อยแห่งแรกในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ของ ACOM และมีความสำคัญเชิงกลยุทธ์สำหรับ ACOM ในการเป็นผู้ประกอบการให้สินเชื่อเพื่อการบริโภครายสำคัญในภูมิภาคนี้ นอกจากนี้ ACOM ยังมีพันธะสัญญาที่เหนียวแน่นกับบริษัทในการให้การสนับสนุนทั้งในด้านการเงินและธุรกิจอันได้แก่การถ่ายทอดเทคโนโลยีและความรู้ทางธุรกิจที่ใช้ในทางปฏิบัติอีกด้วย การมีประสบการณ์มากกว่า 18 ปีในธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยส่งผลให้บริษัทอีซี่ บายมีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับเป็นอย่างดี ในขณะที่การสนับสนุนทางการเงินและธุรกิจอย่างต่อเนื่องจาก ACOM เป็นปัจจัยช่วยส่งเสริมฐานะทางการตลาดและการเติบโตของบริษัทในอนาคต แม้ว่าลักษณะของธุรกิจจะมีการกระจายความเสี่ยงอยู่แล้วจากการปล่อยสินเชื่อต่อรายในจำนวนไม่มากให้แก่ลูกค้ารายย่อยจำนวนมาก แต่บริษัทก็ยังคงมีความเสี่ยงทางด้านเครดิตเนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่มีความเสี่ยงมากกว่ากลุ่มลูกค้าของธนาคารพาณิชย์ นอกจากนี้ บริษัทยังมีความเสี่ยงด้านกฎระเบียบเนื่องจากภาครัฐให้ความสำคัญในการปกป้องผลประโยชน์ของผู้บริโภคมากขึ้นด้วย บริษัทมีระบบบริหารสินทรัพย์ที่ดีและการบริหารจัดการความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ ทำให้คุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2551 โดยอัตราส่วนสินเชื่อค้างชำระมากกว่า 3 เดือนต่อสินเชื่อรวมลดลงจาก 5.6% ในปี 2550 เป็น 2% ตั้งแต่ปี 2554 ถึงเดือนมิถุนายน 2556 ในทางตรงข้าม สัดส่วนเฉลี่ยของอุตสาหกรรมกลับเพิ่มขึ้นเป็น 4.2% ณ เดือนมิถุนายน 2557 จาก 3% ในปี 2556 เนื่องจากบริษัทได้ปรับฐานลูกค้าจากกลุ่มผู้ทำงานในโรงงานมาเป็นกลุ่มผู้ทำงานในสำนักงานตั้งแต่ปี 2552 จึงทำให้บริษัทได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจเพียงบางส่วน บริษัทได้นำความรู้ในการดำเนินธุรกิจและเครื่องมือบริหารความเสี่ยงต่าง ๆ จาก ACOM มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพตลาดของไทย ไม่ว่าจะเป็นแบบจำลองการให้คะแนนความน่าเชื่อถือของลูกค้า (Credit Scoring) ที่ทันสมัย การบริหารร้านค้าเครือข่าย และฐานข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงมาตรฐานและขั้นตอนการติดตามจัดเก็บหนี้เพื่อใช้ควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ บริษัทมีฐานะทางการเงินที่เข้มแข็งขึ้นตั้งแต่ปี 2550 โดยในปี 2551 บริษัทมีกำไรสุทธิ 310 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นเป็น 326 ล้านบาทในปี 2552 เป็น 925 ล้านบาทในปี 2553 และเป็น 1,310 ล้านบาทในปี 2554 สำหรับปี 2555 รายได้สุทธิยังคงเพิ่มขึ้นเป็น 1,948 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นถึง 49% จากปี 2554 และทำสถิติสูงสุดที่ระดับ 2,212 ล้านบาทในปี 2556 และในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 กำไรสุทธิของบริษัทอยู่ที่ระดับ 1,764 ล้านบาท การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องเป็นผลมาจากปัจจัยหลายประการ อาทิ การขยายจำนวนสินเชื่อส่วนบุคคลอย่างต่อเนื่อง การควบคุมค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ และการปล่อยสินเชื่อให้แก่กลุ่มลูกค้าที่มีความเสี่ยงต่ำลง ในวันที่ 31 ตุลาคม 2555 บริษัทได้จัดสรรกำไรสะสมจำนวน 3,600 ล้านบาทให้แก่ผู้ถือหุ้นในรูปแบบของหุ้นปันผล ซึ่งมีผลทำให้เงินทุนจดทะเบียนชำระแล้วของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 3,900 ล้านบาทจาก 300 ล้านบาท ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว บริษัทมีเงื่อนไขที่จะต้องดำรงเงินทุนให้เพียงพอเพื่อให้หนี้สินของบริษัทมีสัดส่วนเท่ากับหรือไม่เกิน 7 เท่าของทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วของบริษัท

การเติบโตอย่างต่อเนื่องของกำไรตั้งแต่ปี 2552 ช่วยเพิ่มฐานทุนของบริษัท อัตราส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมเพิ่มขึ้นจาก 5.70% ในปี 2550 เป็น 10.58% ในปี 2553 เป็น 14.56% ในปี 2554 เป็น 18.57% ในปี 2555 เป็น 22.94% ในปี 2556 และเป็น 25.56% ณ เดือนกันยายน 2557 ในขณะเดียวกัน อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนของบริษัทก็ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน โดยลดลงจาก 14 เท่าในปี 2551 เป็น 2.82 เท่า ณ เดือนกันยายน 2557


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ