PTT คาดสรุปแผนลงทุนโครงการโรงกลั่น-ปิโตรเคมีเวียดนามใน H2/58

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday December 30, 2014 11:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บมจ.ปตท.(PTT)เปิดเผยว่า โครงการโรงกลั่นและปิโตรเคมีในเวียดนาม บริษัทยังไม่ได้รวมโครงการนี้เข้าไปในงบลงทุน 5 ปี(ปี 58-62) แม้ว่ารัฐบาลเวียดนามจะอนุมัติโครงการในเบื้องต้นแล้ว แต่ยังต้องทำการยืนยันกับผู้ร่วมทุน ได้แก่ ซาอุดิอารัมโก ที่ถือหุ้นในสัดส่วน 40%, PTT 40% และพันธมิตรเวียดนามอีก 20%

นอกจากนั้น จะต้องประเมินมูลค่าเงินลงทุนอีกครั้ง ซึ่งเดิมตั้งงบไว้ 2.2 หมื่นล้านเหรียสหรัฐ หรือประมาณ 7 แสนล้านบาท รวมทั้งแหล่งเงินลงทุนที่ขณะนี้เจรจากับสถาบันการเงินไว้ด้วย คาดว่าจะได้ข้อสรุปโครงการนี้ในช่วงครึ่งหลังปี 58 โดยจะดึงบริษัทในกลุ่ม ปตท.เข้ามาร่วมลงทุนโครงการนี้ด้วย ได้แก่ บมจ.ไทยออยล์(TOP)เพื่อช่วยพัฒนาในด้านโรงกลั่น เป็นต้น ทั้งนี้ จะมีการหารือกันภายในกลุ่ม ปตท.ต่อไป

ส่วนสาเหตุที่ PTT ตัดสินใจยกเลิกการร่วมทุนในโครงการ FLNG ของบริษัท PTT FLNG Limited(PTT FLNG) ระหว่าง PTT และบมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม(PTTEP) หลังจากร่วมศึกษากนมาระยะหนึ่งพบว่าโครงการ FLNG เป็นการลงทุนธุรกิจปลายน้ำ(upstream) จึงสมควรให้ PTTEP เป็นผู้ดำเนินการเอง ขณะที่ PTT จะเป็นผู้รับซื้อก๊าซ ดังนั้น PTT จึงถอนตัวออกมา ซึ่งที่ผ่านมาใช้งบศึกษาโครงการเท่านั้นยังไม่มีการตั้งงบลงทุนแต่อย่างใด

นายวิรัตน์ กล่าวถึงแผนการลงทุน 5 ปี (ปี 58-62)ของ ปตท.วงเงินรวม 326,551 ล้านบาทว่า งบลงทุนส่วนใหญ่ประมาณกว่า 60% จะลงทุนธุรกิจก๊าซธรรมชาติที่เป็นในส่วนโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ ท่อก๊าซเส้นที่ 4 เป็นการลงทุนต่อเนื่องและจะแล้วเสร็จในไตรมาส 3/58, ท่อก๊าซเส้นที่ 5, การลงทุนคลัง LNG ของโครงการที่ 1 เฟสที่ 2 ที่จะแล้วเสร็จในปี 60 รองรับได้เพิ่มเป็น 10 ล้านตัน/ปี จากเฟสแรกรับได้ 5 ล้านตัน/ปี รวมทั้งจะลงทุนคลัง LNG โครงการที่ 2 ที่กำลังมองหาสถานที่เหมาะสมใกล้ท่าเรือ คาดว่าจะสรุปได้ภายในปี 58

นอกจากนี้ PTT จะรุกขยายการลงทุนในต่างประเทศทั้งธุรกิจถ่านหินและธุรกิจโรงไฟฟ้า ทั้งนี้ การลงทุนจะสอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย(PDP 2015) ที่มีสัดส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหินมากขึ้น ขณะที่ความต้องการของก๊าซอาจจะลดลงจากเดิม

ส่วนราคาน้ำมันที่ปรับตัวลงแรงในขณะนี้ ไม่ได้มีผลต่อการลงทุนของ PTT เพราะเชื่อว่าราคาน้ำมันจะดีดตัวกลับขึ้นมาเหมือนสถานการณ์ในปี 51 ที่เกิดวิกฤติการเงินในสหรัฐทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวลงแรงไปต่ำสุดที่ 39 ดอลลาร์/บาร์เรลจากที่เคยขึ้นไปสูงถึง 140 ดอลลาร์/บาร์เรลภายในเวลา 6 เดือน จากนั้นค่อยฟื้นตัวขึ้นมากว่า 100 เหรียญ/บาร์เรลในเวลา 2 ปีครึ่ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ