TPCH รับอานิสงส์ กพช.กำหนดราคารรับซื้อไฟฟ้าแบบใหม่หนุนแผนธุรกิจ

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday January 5, 2015 12:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล กรรมการผู้จัดการ บมจ.ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง(TPCH)ผู้ประกอบธุรกิจหลักโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ที่ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนประเภทต่างๆ กล่าวว่า บริษัทจะมีการเติบโตแบบก้าวกระโดดและมั่นใจว่าหุ้นของบริษัทมีความคุ้มค่าแก่การลงทุนด้วยปัจจัยสนับสนุนได้แก่ 1.แผนธุรกิจที่ชัดเจนในการที่จะเพิ่มกำลังการผลิตจาก 10 เมกกะวัตต์ เป็น 150 เมกกะวัตต์ ภายใน 3-5 ปีจากนี้ และ 2.การสนับสนุนจากรัฐบาลโดยกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบใหม่เป็นระบบ Feed in Tariff

กรณีที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบการกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบใหม่เป็นระบบ Feed in Tariff(FiT) ซึ่งจะมีราคารับซื้อแน่นอนตามระยะเวลาสนับสนุนโครงการ 20-25 ปี แตกต่างจากระบบก่อนหน้า (Adder) ราคารับซื้อจะเคลื่อนไหวไปตามค่าไฟฐาน (Base Tariff ) บวกค่า Ft ทั้งนี้รูปแบบใหม่จะมี FiT premium เป็นระยะเวลา 8 ปี เพิ่มขึ้นจากเดิมในระบบ Adder ที่จะมีเงินอุดหนุนเป็นระยะเวลา 7 ปี สำหรับโรงไฟฟ้าที่ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าประเภทชีวมวล ว่าหากนำมาใช้จริงจะส่งผลดีต่อบริษัทฯ อย่างมาก โดยก่อให้เกิดปัจจัยบวกให้เห็นเป็นรูปธรรมในหลายๆ ด้าน

"จากแผนธุรกิจของบริษัทที่จะเพิ่มกำลังการผลิตจาก 10 เมกกะวัตต์ เป็น 150 เมกกะวัตต์ ภายใน 3-5 ปี จะส่งผลให้รายได้และกำไรของบริษัทเติบโตได้อย่างมั่นคงในอนาคต นอกจากนี้คาดว่าอัตรากำไรสุทธิโรงไฟฟ้าในกลุ่มบริษัทจะดีขึ้นกว่าเดิมที่ได้คาดการณ์ไว้หากนำระบบ Feed in Tariff มาใช้ นอกจากนี้เมื่อพิจารณาโรงไฟฟ้าชีวมวลเทียบกับโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนชนิดอื่น โรงไฟฟ้าชีวมวลสามารถผลิตไฟฟ้าได้สูงสุด 24 ชั่วโมงต่อวัน หรือคิดเป็นประมาณ 8,000 ชั่วโมงต่อปี ตราบเท่าที่มีเชื้อเพลิงในการดำเนินการซึ่งการที่เรามีพันธมิตรที่สามารถเข้าถึงแหล่งเชื้อเพลิง ได้แก่ นราพารา หรือ กลุ่ม วู้ดเวอร์ค เอ็นเนอร์ยี ทำให้เรามั่นใจว่าจะสามารถผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นนักลงทุนจึงสามารถมั่นใจได้ว่าบริษัทจะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและมั่นคง" นายเชิดศักดิ์ กล่าว

ทั้งนี้ โดยเฉพาะสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอพิเศษ ที่ได้รับส่วนเพิ่มเติมพิเศษในรูป Feed in Tariff Premium อีก 0.50 บาท ตลอดอายุโครงการ ซึ่งแต่ก่อนเคยได้รับส่วนเพิ่มเติมจาก Adder ปกติเมื่อก่อสร้างในจังหวัดอื่นๆ อีก 1.00 บาท เป็นเวลาเพียง 7 ปี

ปัจจุบัน TPCH ถือหุ้นในโรงไฟฟ้าชีวมวล 7 โครงการ โดยแบ่งเป็น 2 เฟส เฟส 1 มี 4 โครงการ กำลังการผลิตรวม 40 เมกกะวัตต์ ซึ่งประกอบด้วย 1.โรงไฟฟ้าช้างแรก ไบโอเพาเวอร์ ที่ จ.นครศรีธรรมราช 2.โครงการมหาชัย กรีน เพาเวอร์ ที่ จ.สมุทรสาคร 3.โครงการทุ่งสัง กรีน ที่ จ.นครศรีธรรมราช และ 4.โครงการแม่วงศ์ เอ็นเนอยี่ ที่ จ.นครสวรรค์ โดยโครงการที่ดำเนินการแล้วคือโครงการช้างแรก ส่วนโครงการที่เหลืออยู่ระหว่างดำเนินการ

ส่วนเฟส 2 เป็นโครงการในอนาคตมี 3 โครงการ กำลังการผลิตรวม 60 เมกกะวัตต์ ซึ่งประกอบด้วย โครงการ พัทลุง กรีน เพาเวอร์ ที่ จ.พัทลุง 2.โครงการ ปัตตานี กรีน ที่ จ.ปัตตานี และ 3.โครงการ สตูล กรีน เพาเวอร์ ที่ จ.สตูล รวมมีกำลังการลิตทั้งสิ้น 100 เมกกะวัตต์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ