(เพิ่มเติม) NDR เคาะราคา IPO ที่ 2.70 บาท/หุ้น เปิดขาย 7-9 ม.ค.เข้าเทรด 15 ม.ค.58

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday January 6, 2015 12:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.เอ็น.ดี.รับเบอร์(NDR)กำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชน (IPO) จำนวน 65 ล้านหุ้น ที่ราคา 2.70 บาท/หุ้น จากมูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท โดยจะเปิดให้จองซื้อในช่วงวันที่ 7-9 ม.ค.58 และจะนำหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai)ในวันที่ 15 ม.ค.58 โดยจะใช้ชื่อย่อหลักทรัพย์ในการซื้อขายว่า "NDR"

นายวิชา โตมานะ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวาณิชธนกิจ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้น IPO ของ NDR เปิดเผยว่า บริษัทจะร่วมกันเสนอขายหุ้นกับผู้ร่วมจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายอีก 3 แห่ง ประกอบด้วย บล.เอเชีย เวลท์ จำกัด ,บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) และบล.โนมูระ พัฒนสิน

"การกำหนดราคาไอพีโอของ NDR ที่ 2.70 บาทต่อหุ้นนั้น เป็นราคาที่ดึงดูดใจ เนื่องจากคิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิ (P/E Ratio) ประมาณ 11.36 เท่า โดยคำนวณกำไรสุทธิต่อหุ้นจากผลกำไรสุทธิ 4 ไตรมาสย้อนหลัง ซึ่งมองว่าเป็นราคาที่เหมาะสมกับปัจจัยพื้นฐานของบริษัท และเมื่อเทียบกับอัตราส่วน P/E ของตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ โดยรวมที่อยู่ระดับ 40-50 เท่า ผมเชื่อมั่นว่าราคาเหมาะสมต่อปัจจัยพื้นฐานของบริษัท และด้วยสภาวะการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ในปัจจุบัน ทำให้เชื่อว่าเมื่อเปิดให้จองซื้อหุ้น NDR จะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี"นายวิชา กล่าว

นายชัยสิทธิ์ สัมฤทธิวณิชชา กรรมการผู้จัดการ NDR ผู้ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายยางรถจักรยานยนต์ และจำหน่ายแบตเตอรี่รถจักรยานยนต์และรถยนต์ กล่าวว่า เม็ดเงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้จะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและใช้คืนเงินกู้สถาบันทางการเงินที่ได้กู้ยืมมาเพื่อขยายกิจการในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยบริษัทได้ขยายกำลังการผลิตยางนอกสำหรับรถจักรยานยนต์เป็น 3,500,000 เส้น/ปี ซึ่งจะเริ่มใช้กำลังการผลิตดังกล่าวได้อย่างเต็มประสิทธิภาพในไตรมาส 1/58 จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตที่ 2,400,000 เส้น/ปี โดยการชำระคืนเงินกู้ครั้งนี้จะทำให้ต้นทุนทางการเงินของบริษัทลดลง

“บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้ในปี 59 แตะ 1 พันล้านบาท เนื่องจากการขยายฐานลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ พร้อมวางเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจ ขึ้นแท่นเป็น 1 ใน 3 อันดับแรกของบริษัทในอุตสาหกรรมการผลิตยางรถจักรยานยนต์ในประเทศภายใน 3 ปี หรือปี 60 ขณะเดียวกันยังมุ่งเน้นการรักษาคุณภาพของสินค้า และพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้ตรงตามความต้องการของตลาดเพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า พัฒนาสินค้าให้สามารถแข่งขันในตลาดได้ในระยะยาว และสร้างความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นขบวนการผลิตที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม"นายชัยสิทธิ์ กล่าว

ด้านผลการดำเนินงานในปี 58 บริษัทตั้งเป้ารายได้เติบโตไม่ต่ำกว่า 10% จากปี 57 ที่คาดว่าจะมีรายได้ราว 850 ล้านบาท โดยในปีนี้จะมีลูกค้าจากอินเดียที่สั่งซื้อยางรถมอเตอร์ไซด์เข้ามาเพิ่ม และจะทำให้สัดส่วนรายได้จากต่างประเทศขยับเพิ่มขึ้นเป็น 60% จากปัจจุบันอยู่ที่ 50% ประกอบกับ ได้รับคำสั่งซื้อยางรถมอเตอร์ไซด์ของลูกค้าใหม่ประเทศ คือ SUZUKI ซึ่งสามารถช่วยผลักยอดขายในได้ระดับหนึ่ง ขณะที่อัตรากำไรสุทธิในปีนี้คาดว่าจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 57 ที่ 6-7% จากผลดีราคายางพาราที่ลดลง ช่วยทำให้ต้นทุนการผลิตของบริษัทลดลงในระดับหนึ่งด้วย

ขณะที่ผลประกอบการในช่วงก่อนหน้านี้มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยปี 54-56 มีรายได้จากการขาย 737.92 ล้านบาท 826.94 ล้านบาท 853.00 ล้านบาท ตามลำดับ โดยเหตุผลหลักของการเติบโตของรายได้เนื่องจากปริมาณยอดขายที่เพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะการส่งออกยางนอกรถจักรยานยนต์ไปยังประเทศมาเลเซียซึ่งเป็นลูกค้าหลัก ซึ่งบริษัทมีอัตราการเติบโตสำหรับการส่งออกไปยังประเทศมาเลเซียในปี 56 คิดเป็น 5.93% เมื่อเทียบกับปี 55 และอัตราการเติบโตในช่วง 9 เดือนปี 57 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 56 คิดเป็น 3.96%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ