“ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติของประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยเป็นเชื้อเพลิงที่ใช้ทั้งในภาคไฟฟ้า ภาคอุตสาหกรรม ภาคปิโตรเคมี และภาคขนส่ง ในขณะที่ปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยและสหภาพพม่ามีแนวโน้มลดลง ดังนั้น ก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ แอลเอ็นจี จึงเป็นทางออกสำคัญเพื่อรองรับความต้องการใช้พลังงานของประเทศให้เพียงพอ"นายไพรินทร์ กล่าว
ปตท. ได้นำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีมาตั้งแต่ปี 54 ผ่านการซื้อขายในตลาดจร ซึ่งปริมาณที่นำเข้าได้เพิ่มขึ้นตลอดมา ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 2 ล้านตัน โดยในปี 58 คาดว่าจะมีการนำเข้าตามแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าระยะยาว (พีดีพี) ในปริมาณ 5 ล้านตันต่อปี ทั้งนี้ บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด อยู่ระหว่างการขยายศักยภาพของสถานีรับ-จ่ายก๊าซแอลเอ็นจี ให้สามารถรองรับการนำเข้าเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 5 ล้านตัน เป็น 10 ล้านตันต่อปี ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2560
ทั้งนี้ ปตท. และบริษัท Qatargas ได้ทำการซื้อขายก๊าซแอลเอ็นจีครั้งแรกในปี 54 ในลักษณะสัญญาแบบ Spot เพื่อใช้ทดสอบระบบ ณ สถานีรับ-จ่าย แอลเอ็นจีแห่งแรกของกลุ่ม ปตท. และแห่งแรกในอาเซียน ที่มาบตาพุด จ.ระยอง รวมถึงนำเข้าแอลเอ็นจีเพื่อทดแทนก๊าซธรรมชาติที่ขาดหายไปจากกรณีท่อส่งก๊าซฯรั่วในทะเล นับเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน โดยบริษัท Qatargas เป็นผู้ผลิตและขายแอลเอ็นจีใหญ่ที่สุดในโลก มีกำลังการผลิต 77 ล้านตันต่อปี คิดเป็นสัดส่วน 30% ของปริมาณแอลเอ็นจีที่ค้าขายในตลาดโลก มีปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติมากถึง 900 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ซึ่งเพียงพอต่อความต้องการใช้ก๊าซฯ มากกว่า 100 ปี