ประกอบด้วย หุ้นกู้ชุดที่ 1 อายุ 4 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 4.85% ต่อปี ครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ. 2562 มีมูลค่าหุ้นกู้ที่เสนอขายไม่เกิน 2,000 ล้านบาท และมีหุ้นกู้สำรองเพื่อเสนอขายเพิ่มเติมมูลค่าไม่เกิน 1,000 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่ารวมที่เสนอขายไม่เกิน 3,000 ล้านบาท
และหุ้นกู้ชุดที่ 2 อายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 5.20% ต่อปี ครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ. 2563 มีมูลค่าหุ้นกู้ที่เสนอขายไม่เกิน 2,000 ล้านบาท และมีหุ้นกู้สำรองเพื่อเสนอขายเพิ่มเติมมูลค่าไม่เกิน 1,000 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่ารวมที่เสนอขายไม่เกิน 3,000 ล้านบาท
สำหรับหุ้นกู้ทั้ง 2 ชุด เป็นหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ชนิดระบุชื่อผู้ถือ ไม่มีประกัน ไม่มีสิทธิแปลงสภาพ และมีผู้แทนถือหุ้นกู้ โดยบริษัทจะชำระดอกเบี้ยให้ผู้ถือหุ้นกู้ทุกๆ 3 เดือน และจะชำระคืนเงินต้นทั้งจำนวนในวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ หุ้นกู้ของบริษัทได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ระดับ BBB+ และมีแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือ Stable จากบริษัท ทริสเรทติ้ง
นายประชัย กล่าวว่า วัตถุประสงค์ในการออกหุ้นกู้ครั้งนี้ เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ และรองรับการลงทุนของบริษัททั้งในปัจจุบันและการลงทุนที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต และนำไปใช้ชำระหนี้เงินกู้ก่อนกำหนด(Refinancing)ที่มีต้นทุนทางการเงินสูง โดยบริษัทเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์รายใหญ่อันดับ 3 ของประเทศ มีกำลังผลิต 9 ล้านตันต่อปี ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างก่อสร้างโรงปูนซีเมนต์สายการผลิตที่ 4 โดยมีกำลังการผลิตปูนซีเมนต์ 4.5 ล้านตันต่อปี ซึ่งคาดว่าโครงการดังกล่าวสามารถผลิตในเชิงพาณิชย์ภายในปี 58 จะส่งผลให้บริษัทมีกำลังการผลิตปูนซีเมนต์รวมทั้งสิ้น 13.5 ล้านตันต่อปีในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ปัจจุบัน บริษัทมีสายการผลิตปูนซีเมนต์ครบวงจรตั้งแต่การผลิตปูนเม็ด ปูนซีเมนต์ ปูนสำเร็จรูป คอนกรีต และไฟเบอร์ซีเมนต์ ซึ่งความต่อเนื่องของสายการผลิตปูนซีเมนต์ ทำให้บริษัทได้รับประโยชน์จากการประหยัดจากขนาดและมีโครงสร้างต้นทุนที่แข่งขันในตลาดได้
นายสุภัค ศิวะรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า การออกหุ้นกู้ครั้งนี้ของ TPIPL เชื่อว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีเช่นกัน ตลาดตราสารหนี้ยังเป็นที่สนใจทั้งผู้ลงทุนและบริษัทเอกชนที่ระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ จากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ ประกอบกับสัญญาณภาวะเงินฝืดที่จะเกิดขึ้นในหลายประเทศ ทำให้ธนาคารกลางยังต้องดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย และกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ ทำให้เม็ดเงินดังกล่าวมีโอกาสไหลเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ของหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย
อีกทั้ง แนวโน้มของทิศทางดอกเบี้ยในประเทศยังอยู่ในระดับที่ต่ำ ซึ่งการลงทุนในหุ้นกู้เอกชนเป็นทางเลือกของผู้ลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนที่เหมาะสมกับความเสี่ยงที่ตัวเองยอมรับได้ด้วย ปัจจัยที่กล่าวมาคาดว่าการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ในปี 58 น่าจะมีความคึกคัก