นอกจากนั้น ในปีนี้บริษัทเตรียมยื่นประมูลงานหม้อแปลงไฟฟ้าของการไฟฟ้าทั้ง 2 แห่งเพิ่มอีกราว 4,000-5,000 ล้านบาท คาดได้งานราว 10-15% เป็นงานของ กฟน.และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.)ที่ขยายงานโครงการใหม่ทุกปี รวมทั้งเชื่อว่ายังมีงานของภาคเอกชนที่จะได้เข้ามาทุกเดือนเพิ่มขึ้นด้วย
บริษัทคาดว่ารายได้รวมในปีนี้นั้น รายได้จากการขายหม้อแปลงไฟฟ้า ซึ่งเป็นธุรกิจเดิม จะเติบโตราว 10% หรือจะมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 2,200 ล้านบาท จากปีก่อนอยู่ที่ 2,000 ล้านบาท นอกจากนั้น บริษัทและจะเริ่มรับรู้รายได้จากธุรกิจผลิตแผงโซลาร์เซลล์ราว 2 พันล้านบาท หลังจากที่ภาครัฐมีนโยบายขับเคลื่อนพลังงานทดแทนเต็มที่ โดยเฉพาะโครงการโซลาร์ชุมชน ซึ่งบริษัทมั่นใจจะได้รับออเดอร์ในโครงการนี้ หลังจากที่ได้รับงานจากโซลาร์รูฟของหน่วยงานราชการมาแล้วราว 40 เมกะวัตต์ และจะมีรายได้จากการผลิตไฟฟ้าเอง
"ปีนี้จะมีรายได้จากธุรกิจโซลาร์เซลล์ราว 2,000 ล้านบาท จากปีก่อนที่ไม่มีรายได้ในส่วนนี้เลย โดยแบ่งเป็นการลงทุนทำและขายไฟเองมากกว่า 60% และรับจ้างผลิตแผงโซลาร์เซลล์ให้ผู้ประกอบการรายอื่น 40% ซึ่งในส่วนของลงทุนทำเองคาดจะเสร็จราวไตรมาส 2/58 ขายไฟได้เท่าไรก็รับรู้รายได้เท่านั้น และในส่วนรับงานทำแผงโซลาร์เซลล์ถ้าทำเสร็จส่งมอบก็รับรู้รายได้ทันที"นายดนุชา กล่าว
ส่วนผลประกอบการปี 57 คาดว่าจะมีกำไรสุทธิสูงกว่าปีก่อนที่ที่มีกำไร 58 ล้านบาท เพราะงวด 9 เดือนแรกของปี 57 มีกำไรแล้ว 56 ล้านบาท และไตรมาส 4/57 เป็นไตรมาสที่ดีที่สุดของปี โดยมีการรับรู้รายได้กว่า 700 ล้านบาท จากการส่งมอบงานของ กฟน.ทั้งหมดราว 230 ล้านบาท ซึ่งเลื่อนมาส่งมอบในไตรมาส 4 ส่วนที่เหลือเป็นงานเอกชน ทำให้ไตรมาส 4/57 บริษัทมีกำไรสูงในทิศทางเดียวกับรายได้
นายดนุชา เปิดเผยอีกว่า บริษัทคาดว่าในปี 59 รายได้จะยังเติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากการเปิดประชาคมอาเซียน (AEC)ที่จะทำให้โอกาสสร้างรายได้จากการส่งออกหม้อแปลงไฟฟ้าสูงขึ้นมาที่สัดส่วนสูงกว่า 20% จากปัจจุบันอยู่ที่ 10% ซึ่งตลาดทั้งพม่า ลาว กัมพูชา มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย น่าจะขยายตัวได้ดี
ขณะที่สัดส่วนลูกค้าในประเทศแบ่งเป็นภาคเอกชน 70% รัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ 30%
นอกจากนั้น นายดนุชา กล่าวว่า บริษัทเปิดกว้างเจรจาพันธมิตรทางธุรกิจที่สนใจเข้าร่วมลงทุนในธุรกิจผลิตแผงโซลาร์เซลล์กับบริษัท เอกรัฐโซลาร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูก โดยขณะนี้มีผู้สนใจเข้ามาเจรจาหลายรายทั้งจีน และญี่ปุ่น ซึ่งขณะนี้ AKR มีความพร้อมและมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งขึ้น โดยมีหนี้เงินกู้เหลือราว 200 ล้านบาท ทำให้สัดส่วนหนี้สินต่อทุน(D/E)ลดลงมาเหลือ 0.6 เท่า หลังจากทยอยชำระหนี้สถาบันการเงินไปแล้ว
"ตอนนี้เรามีโอกาสเลือกพันธมิตรที่จะเข้ามาทำธุรกิจกับเรามากขึ้น เราไม่ปิดกั้น เพราะฐานะทางการเงินแข็งแกร่งขึ้น หนี้ลดลง ซึ่งถ้ามีพันธมิตรต่างประเทศก็ดีเพราะเราจะได้ขยายตลาดด้วย"นายดนุชา กล่าว