ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนการคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถดำรงสถานะผู้นำตลาดในธุรกิจโรงภาพยนตร์และรักษาผลประกอบการให้อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจเอาไว้ได้ การขยายธุรกิจไปในต่างประเทศจะช่วยขยายฐานลูกค้าและลดความเสี่ยงจากการมีกลุ่มลูกค้าภายในประเทศเพียงอย่างเดียวได้ การมีแหล่งกระแสเงินสดที่หลากหลายจะช่วยสนับสนุนอันดับเครดิต โดยที่การลงทุนในอนาคตหรือการจ่ายเงินปันผลจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินและสภาพคล่องของบริษัทอย่างรุนแรง บริษัทเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป เป็นผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 70% โดยพิจารณาจากรายได้รวมของภาพยนตร์ที่เข้าฉายในสัปดาห์แรก บริษัทก่อตั้งในปี 2538 โดยนายวิชา พูลวรลักษณ์ ซึ่งปัจจุบันถือหุ้นในสัดส่วน 34% บริษัทดำเนินธุรกิจหลัก 5 ประเภท ได้แก่ โรงภาพยนตร์ โบว์ลิ่งและคาราโอเกะ สื่อและโฆษณา การให้เช่าพื้นที่และบริการ รวมถึงธุรกิจสื่อภาพยนตร์ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 รายได้ส่วนใหญ่ของบริษัทมาจากธุรกิจโรงภาพยนตร์และธุรกิจโฆษณา โดยรายได้จากธุรกิจโรงภาพยนตร์คิดเป็น 69% ของรายได้ทั้งหมด ในขณะที่รายได้จากธุรกิจโฆษณาและธุรกิจสื่อภาพยนตร์คิดเป็น 13% และ 9% ตามลำดับ สำหรับธุรกิจอื่น ๆ อีก 2 ประเภทต่างก็มีรายได้คิดเป็นประมาณ 6% ของรายได้ทั้งหมด ณ สิ้นเดือนกันยายน 2557 บริษัทดำเนินกิจการโรงภาพยนตร์ 74 แห่ง โดยมีจำนวนจอภาพยนตร์ทั้งสิ้น 504 จอ และที่นั่ง 120,873 ที่นั่ง ณ ปัจจุบันบริษัทมีโรงภาพยนตร์ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล 31 แห่ง ในต่างจังหวัด 42 แห่ง และในประเทศกัมพูชา 1 แห่ง ในเดือนมิถุนายน 2557 บริษัทเปิดให้บริการโรงภาพยนตร์ในต่างประเทศแห่งแรกที่กรุงพนมเปญเมืองหลวงประเทศกัมพูชา โดยโรงภาพยนตร์ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้าญี่ปุ่นชื่อ Aeon Mall ซึ่งประกอบด้วยโรงภาพยนตร์ 7 จอ และโบว์ลิ่ง 14 ราง บริษัทมีสาขาโบว์ลิ่งและคาราโอเกะทั้งหมด 21 แห่ง ซึ่งประกอบด้วยโบว์ลิ่ง 389 ราง ห้องคาราโอเกะ 240 ห้อง และลานสเกตน้ำแข็ง 6 แห่ง นอกจากนี้ บริษัทยังให้บริการโรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่ที่ดำเนินการเองจำนวน 5 แห่ง และมีพื้นที่ให้เช่าขนาด 50,489 ตารางเมตร (ตร.ม.) รวมทั้งยังขยายโรงภาพยนตร์ไปตามห้างสรรพสินค้าและร้านค้าปลีกสมัยใหม่โดยใช้ตราสัญลักษณ์หลากหลายเพื่อดึงดูดลูกค้าหลาย ๆ กลุ่มด้วย สถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัทได้รับแรงหนุนบางส่วนจากการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับตัวแทนผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์และการมีโรงภาพยนตร์จำนวนมากทั่วประเทศ โดยรายได้จากการเข้าชมภาพยนตร์ขึ้นอยู่กับจำนวนภาพยนตร์ที่เข้าฉายรวมถึงคุณภาพและความเป็นที่นิยมของภาพยนตร์ด้วย อนึ่ง การชมภาพยนตร์ในโรงเป็นรูปแบบความบันเทิงที่มีราคาไม่แพงและสามารถเข้าถึงได้ง่าย อย่างไรก็ตาม การชมภาพยนตร์ในโรงก็มีความเสี่ยงจากการทดแทนโดยความบันเทิงในรูปแบบอื่น ๆ เช่น กิจกรรมความบันเทิงภายในบ้าน การใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ และกิจกรรมนันทนาการอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม การออกไปชมภาพยนตร์ในโรงยังคงเป็นวิถีชีวิตที่มีเสน่ห์และยังไม่มีกิจกรรมนันทนาการใดที่สามารถทดแทนประสบการณ์จากการชมภาพยนตร์ในโรงได้อย่างสมบูรณ์ ในปี 2556 บริษัทมีรายได้รวม 7,711 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้น 11% จากปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ เนื่องมาจากยอดการจำหน่ายตั๋วชมภาพยนตร์ที่ดีขึ้นอย่างมากทั้งภาพยนตร์ไทยและภาพยนตร์จากฮอลลีวูด เช่น “พี่มากพระโขนง" “Iron Man 3" และ “The Fast and Furious 6" รวมทั้งจากรายได้จากธุรกิจโฆษณาและการขายอาหารว่างและเครื่องดื่มที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง สำหรับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 บริษัทมีรายได้รวมเพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา คิดเป็น 6,499 ล้านบาท โดยรายได้จากการฉายภาพยนตร์และการขายอาหารว่างและเครื่องดื่มปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.6% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาเนื่องจากการเปิดสาขาเพิ่มขึ้นมากกว่า 10 สาขา นอกจากนี้ รายได้จากธุรกิจโฆษณายังเพิ่มขึ้น 6% จากปีที่ผ่านมาด้วย ซึ่งมากกว่าอัตราการใช้งบโฆษณาโดยรวมผ่านสื่อต่าง ๆ ที่ปรับตัวลดลงกว่า 9.3% ในส่วนธุรกิจสื่อภาพยนตร์นั้น รายได้ยังคงเติบโต แต่ทว่ายังมีผลประกอบการขาดทุนอยู่
บริษัทมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จากการขายปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 24.8% ในปี 2555 เป็น 27.9% ในปี 2556 และ 30% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจากธุรกิจภาพยนตร์และธุรกิจโฆษณาคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 60% และ 40% ของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายทั้งหมดตามลำดับ ทั้งนี้ เนื่องจากธุรกิจโฆษณามีค่าใช้จ่ายต่ำจึงสามารถสร้างกระแสเงินสดให้แก่บริษัทได้อย่างมีนัยสำคัญ หนี้สินรวมของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 2,852 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2555 สู่ระดับ 4,820 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2556 และลดลงสู่ระดับ 4,577 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2557 โดยภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นมาจากการขยายสาขา การติดตั้งจอระบบดิจิตัลในโรงภาพยนตร์ และการซื้อหุ้นของ บริษัท เอ็ม พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) (MPIC) คืนจากประชาชน จึงส่งผลให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 56.1% ในปี 2555 สู่ระดับ 63% ในปี 2556 และอยู่ที่ระดับ 61.3% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 ทั้งนี้ บริษัทมีแผนจะเพิ่มจำนวนจอภาพยนตร์เป็น 1,000 จอภายในปี 2563 ส่งผลให้บริษัทต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 1,000 ล้านบาทในปี 2557 และประมาณ 1,300-1,600 ล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2558-2560 ดังนั้น จึงคาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 60% สภาพคล่องของบริษัทอยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดยเงินทุนจากการดำเนินงานปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 1,368 ล้านบาทในปี 2555 เป็น 1,437 ล้านบาทในปี 2556 และอยู่ที่ 1,588 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 เนื่องจากภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นจึงส่งผลให้อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมปรับตัวลดลงจาก 21.4% ในปี 2555 เป็น 15.8% ในปี 2556 และปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 21.7% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2557 (ปรับเป็นอัตราส่วนเต็มปีด้วยตัวเลข 12 เดือนย้อนหลัง) อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 3.8 เท่าในปี 2555 เป็น 4 เท่าในปี 2556 และ 4.5 เท่าในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 ในช่วงอีก 12 เดือนต่อจากนี้ไปบริษัทมีภาระในการชำระหนี้จำนวน 2,335 ล้านบาท โดยเป็นหนี้ตั๋วสัญญาใช้เงินที่ใช้สำหรับเป็นทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานจำนวน 2,220 ล้านบาท
ณ วันที่ 30 กันยายน 2557 บริษัทมีเงินสดจำนวน 362 ล้านบาทและมีวงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงินหลายแห่งจำนวน 2,215 ล้านบาท ซึ่งเพียงพอต่อภาระหนี้ดังกล่าว ณ เดือนกันยายน 2557 มูลค่าทางการตลาดของเงินลงทุนที่สำคัญของบริษัทมีมูลค่า 4,710 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนใน MPIC ในบริษัท สยามฟิวเจอร์ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (SF) และในกองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ไลฟ์สไตล์ (MJLF) มูลค่าทางการตลาดที่อยู่ในระดับสูงจากการลงทุนเหล่านี้จะเป็นส่วนเสริมความคล่องตัวทางการเงินให้แก่บริษัทได้เป็นอย่างดี