นางสาวอมรา เจริญกิจวัฒนกุล กรรมการ ROJNA เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้รวมในปีนี้น่าจะสูงกว่าปีก่อน เพราะมียอดขายที่น่าจะโอนได้จำนวนหลายร้อยไร่ และการเข้าไปถือหุ้นใน TICON เพิ่มเป็นกว่า 40% จากเดิมที่ถืออยู่ 26% ทำให้รับรู้รายได้ตามสัดส่วนการถือหุ้นเพิ่มขึ้นด้วย ขณะที่เป้าหมายของบริษัทจะถือหุ้น TICON ไม่เกินสัดส่วน 49%
ในปีนี้วางเป้ายอดขายที่ดินสูงกว่าปีก่อน คาดว่าในไตรมาสแรกปีนี้จะขายที่ดินให้ลูกค้าใหม่ได้เกินกว่า 100 ไร่ โดยลูกค้าหลักยังอยู่ในกลุ่มยานยนต์ อาหาร-เครื่องดื่ม ซึ่งในไตรมาสนี้คงสามารถลงนามสัญญาขายที่ดินให้กับลูกค้าได้บางส่วน โดยเฉพาะในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมปราจีนบุรี
อย่างไรก็ตาม ยอดขายที่ดินในปีนี้คงไม่ถึงระดับ 1 พันไร่ เพราะภาพรวมยังไม่มั่นใจภาวะเศรษฐกิจโลก แม้แต่ละประเทศจะพยายามออกมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจก็ตาม
"2 ปีที่แล้วขายไปประมาณ 2 พันไร่ ภาวะอย่างนี้ไม่คาดหวังเยอะ ปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก GDP Growth target ไม่สูง ปีนี้เป็นปีที่พยายามประคองตัวไป มีโอกาส มีจังหวะก็ทำกันไป คงไม่ได้ดีเลิศมากมาย ก็กลับเข้าสู่ภาวะปกติและพยายามที่จะเดินหน้า"นางสาวอมรา กล่าว
สำหรับธุรกิจโรงไฟฟ้าขณะนี้ก็เดินเครื่องในระดับปกติ ทำให้รายได้ขยับขึ้นได้ตามการใช้กำลังการผลิตจริง ซึ่งนับว่าอยู่ในอัตราที่ค่อนข้างพึงพอใจ
ส่วนผลประกอบการในปี 57 ที่ผ่านมา คาดว่าจะออกมาได้ดีกว่าปี 56 ที่มีรายได้ราว 1 หมื่นล้านบาท เนื่องจากสามารถโอนที่ดินให้ลูกค้าไปแล้วกว่า 2 พันไร่ ทำให้รายได้ขยับขึ้นมา ส่งผลให้งวด 9 เดือนแรกของปี 57 มีรายได้รวม 8.7 พันล้านบาท
*เตรียมเปิดนิคมฯใหม่ 2 แห่ง 3 พันไร่ในชลบุรี
นางสาวอมรา กล่าวว่า บริษัทเตรียมเปิดนิคมอุตสาหกรรมใหม่โซนภาคตะวันออกจำนวน 2 แห่งในเร็วๆนี้ พื้นที่แหลมฉบังและบ่อวิน จ.ชลบุรี พื้นที่รวมประมาณ 3 พันไร่ เบื้องต้นมีนักลงทุนให้ความสนใจจำนวนมาก ซึ่งการเปิดนิคมฯใหม่ดังกล่าว ทำให้บริษัทต้องใช้งบลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ดินเพื่อรอการขายต่อไป
"งบลงทุนปีนี้ เนื่องจากเราเปิดใหม่ 2 นิคมฯ แน่นอนต้องพัฒนาพื้นที่เพื่อรอขาย...ใช้เงินจากการเพิ่มทุน อีกส่วนหนึ่งเป็นโปรเจคท์ไฟแนนซ์ ทุกโปรเจคท์ที่เดินมีแบงก์สนใจอยู่แล้ว"นางสาวอมรา กล่าว
เมื่อปีที่แล้ว ROJNA ประกาศเพิ่มทุนเป็น 1.99 พันล้านบาท โดยออกหุ้นใหม่ 399.4 ล้านหุ้น พาร์หุ้นละ 1 บาท โดยเสนอขายผู้ถือหุ้นเดิม(RO)อัตราส่วน 4 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ ราคาหุ้นละ 7 บาท แต่ปรากฎว่าสามารถขายหุ้นเพิ่มทุนได้เพียง 311.5 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่าระดมทุนราว 2.18 พันล้านบาท
นางสาวอมรา กล่าวว่า สาเหตุที่ขายหุ้นเพิ่มทุนไม่หมด อาจเป็นเพราะราคาขาย RO ค่อนข้างใกล้เคียงกับราคาตลาดในช่วงนั้น แต่หลังจากที่ปิดจองซื้อแล้วราคาหุ้นในกระดานก็ปรับขึ้นไปค่อนข้างมาก โดยล่าสุดอยู่ในระดับสูงกว่า 8 บาท/หุ้น ส่วนหุ้นที่เหลือจะเสนอขายให้กับนักลงทุนเฉพาะเจาะจง(PP)หรือไม่นั้น บริษัทจะพิจารณาตามความจำเป็นต่อไป
"การที่เราเพิ่มทุนเข้ามาก็มีการปรับสัดส่วนโครงสร้างหนี้ ปรับอะไรต่างๆ ให้ไม่มีความเสี่ยงมากนักสำหรับในสายตาเจ้าหนี้ เพราะนโยบายจะรักษาสัดส่วนหนี้สินต่อทุน(D/E)ไม่เกิน 2.75 เท่าในแง่ของงบรวม แต่ที่ผ่านมาก็ไม่ถึง"นางสาวอมรา กล่าว
ส่วนความคืบหน้าการพัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรมทวายเฟสแรกในพม่าที่ร่วมทุนกับ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์(ITD)ฝ่ายละ 50% นั้น ขณะนี้รอการเจรจาตกลงความร่วมมือในระดับประเทศ หากได้ข้อสรุปก็คงจะมีการเซ็นสัญญากัน เชื่อว่าจะมีความชัดเจนในปีนี้ แต่บริษัทยังยืนยันที่จะเดินหน้าโครงการต่อไป โดยการพัฒนาระยะแรกมี 4 โครงการในระยะเวลา 4-5 ปี โดยได้พาลูกค้าเข้าไปดูพื้นที่บ้างแล้ว
"จะเซ็นสัญญาได้เมื่อไรนั้น ตราบใดที่ระดับบนจะจบได้เมื่อไร ในระหว่างนี้เราก็พาลูกค้าไปดูก็มีคนสนใจ ก็เตรียมตัวเอาไว้ ถ้าเงื่อนไขต่างๆ จบลงได้ก็เดินหน้าได้ไว ตอนนี้รอทุกอย่างงวด"นางสาวอมรา กล่าว
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นายประวีร์ โกมลกาญจน์ ผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาด บริษัท ทวาย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ITD กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"คาดว่าจะลงนามสัญญาพัฒนานิคมอุตสาหกรรมทวายเฟสแรกกับรัฐบาลพม่าภายในเดือน ม.ค.58 ภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมระดับสูงระหว่างไทย-พม่าเพื่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย(JHC)ที่คาดว่าจะมีขึ้นในเดือนนี้