(เพิ่มเติม) ส.ตราสารหนี้ คาดปี 58 เอกชนออกหุ้นกู้ 5.2-5.4 แสนลบ.จาก 5.53 แสนลบ.ปี 57

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday January 13, 2015 17:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย(ThaiBMA)คาดว่าปี 58 จะมีมูลค่าการออกหุ้นกู้ของภาคเอกชนราว 5.2-5.4 แสนล้านบาท จากปี 57 ที่มีมูลค่าราว 5.53 แสนล้านบาท โดยคาดว่าทิศทางดอกเบี้ยภายในประเทศยังไม่น่าจะปรับตัวสูงขึ้นในช่วงเร็วๆ นี้ ซึ่งประเมินว่าอาจจะเพิ่มขึ้นเร็วที่สุดในช่วงครึ่งหลังของปี ส่งผลให้เอกชนตัดสินใจระดมทุนด้วยหุ้นกู้ในช่วงครึ่งแรกของปีเพื่อให้มีต้นทุนคงที่ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำ

นายธาดา พฤติธาดา กรรมการผู้จัดการ ThaiBMA กล่าวว่า การออกหุ้นกู้ยังเป็นที่สนใจของภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง แต่มูลค่าหุ้นกู้อาจลดลงจากปีก่อน เนื่องจากปีนี้คาดว่าผู้ออกหุ้นกู้ส่วนใหญ่จะเป็นเอกชนรายขนาดกลางและเล็ก จากปีก่อนส่วนใหญ่ผู้ออกหุ้นกู้เป็นรายใหญ่

"ปีนี้เชื่อว่ารายใหญ่ๆ จะออกน้อยลง แต่จะปรับเปลี่ยนเป็นบริษัท ขนาดกลางและเล็กเข้ามาออกมาขึ้น ส่งผลให้ปริมาณการออกน้อยลง แต่ผู้ออกจะมีหลากหลายมากขึ้น"นายธาดา กล่าว

ThaiBMA ยังคาดว่าในปีนี้จะมีเงินไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ไทยทั้งตราสารหนี้ระยะสั้นและระยะยาวไม่มากเหมือนปี 57 เนื่องจากตลาดตรับรู้ข่าวร้ายในปีก่อนไปพอสมควรแล้ว อาทิ เศรษฐกิจสหรัฐเริ่มฟื้นตัว ซึ่งส่วนตัวคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)จะไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยแรงอย่างแน่นอน แต่คงทยอยปรับขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป อย่างไรก็ตาม หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น เช่น เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรงก็อาจกระทบต่อเงินทุนไหลออกได้

นอกจากนี้ ยังคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ของไทยจะเริ่มทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ เนื่องจากการท่องเที่ยวยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ และการส่งออกชะลอตัวตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า รวมถึงการบริโภคภาคครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับ ราคาน้ำมันตลาดโลกปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และสินค้าเกษตรปรับลดลง

สำหรับภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในปี 57 เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีการออกหุ้นกู้ระยะยาวจากภาคเอกชนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 553,940 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32% จากปีที่ผ่านมา และสูงกว่าสถิติเดิมในปี 55 ที่มีการออกหุ้นกู้ระยะยาวรวม 509,000 ล้านบาท ขณะที่จำนวนผู้ออกหุ้นกู้ที่เป็นรายใหม่ (Newcomer) สูงถึง 24 ราย เมื่อรวมกับบริษัทที่เคยออกหุ้นกู้มาก่อนแล้วจำนวน 64 ราย ทำให้ในปี 57 มีจำนวนผู้ออกหุ้นกู้ระยะยาวรวม 88 บริษัท ถือเป็นจำนวนสูงสุดเป็นประวัติการณ์เช่นเดียวกัน

ด้านยอดคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทยในปี 57 อยู่ที่ 9.29 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3.3% โดยส่วนใหญ่เป็นพันธบัตรรัฐบาลที่มียอดคงค้างสูงสุดที่ 3.45 ล้านล้านบาท หรือ 37% ของยอดคงค้างทั้งหมด รองลงมาคือพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)มียอดคงค้าง 2.74 ล้านล้านบาท หรือ 30% และภาคเอกชน 2.21 ล้านล้านบาท หรือ 24%

นายพิสิฐ ลี้อาธรรม ประธานกรรมการ ThaiBMA เปิดเผยว่า ในปี 57 ตราสารหนี้ระยะสั้นมีมูลค่าคงค้างเพิ่มขึ้น 28% จาก 290,444 ล้านบาทในปี 56 เป็น 371,572 ล้านบาท โดยมียอดการออกรวม 1.16 ล้านล้านบาท เป็นบริษัทผู้ออกรายใหม่สูงถึง 56 บริษัทเมื่อเทียบกับ 21 บริษัทในปีที่แล้วและเมื่อรวมกับผู้ออก รายเดิมที่เคยออกตราสารหนี้ระยะสั้นแล้วทำให้มีผู้ออกตราสารหนี้ระยะสั้นรวม 133 บริษัทเพิ่มขึ้นถึง 50 บริษัทจากปี 56

"แม้ว่าเศรษฐกิจในปี 57 จะยังขยายตัวในระดับต่ำ แต่ภาคเอกชนกลับระดมทุนผ่านการออกตราสารหนี้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ แสดงให้เห็นถึงการตื่นตัวของภาคเอกชนในการกระจายช่องทางระดมทุนและปรับโครงสร้างต้นทุนทางการเงินในจังหวะที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ และสะท้อนให้เห็นถึงตลาดตราสารหนี้ที่ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง"นายพิสิฐ กล่าว

ขณะที่ปี 57 เงินทุนจากต่างประเทศไหลออกจากตลาดตราสารหนี้สุทธิ 26,200 ล้านบาท เนื่องจากปัญหาการเมืองที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ปลายปี 56 และความกังวลเกี่ยวกับมาตรการ QE ของสหรัฐ ส่งผลให้ในช่วง 5 เดือนแรกของปีมีกระแสเงินต่างชาติไหลออกถึง 69,900 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจ(Roadmap)ช่วงปลายเดือน พ.ค. 57 ส่งผลให้เม็ดเงินต่างชาติไหลกลับมาเข้าตลาดตราสารหนี้ไทยอีกครั้ง โดยมี Net Inflow ในตราสารหนี้ระยะยาวถึง 109,100 ล้านบาท ขณะที่ยังเป็น Outflow ในตราสารหนี้ระยะสั้น 65,330 ล้านบาท ส่งผลให้ช่วงเดือน 7 เดือนหลังของปี (มิ.ย.– ธ.ค.)มียอด Net inflow กว่า 43,700 ล้านบาท แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นที่ปรับตัวดีขึ้น

ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 57 นักลงทุนต่างชาติถือครองตราสารหนี้ไทยรวมมูลค่า 683,215 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยประมาณ 3.7% จาก 707,900 ล้านบาทในปี 56


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ