นางนุชนารถ รัตนสุวรรณชาติ ประธานกรรมการบริหาร และกรรมการผู้จัดการ BKD คาดว่า รายได้และกำไรสุทธิในปี 57 จะเติบโตเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าจะขยายตัว 20% จากปี 56 ซึ่งเป็นฐานที่ค่อนข้างต่ำ ขณะที่ตั้งเป้าหมายกำไรและรายได้ปีนี้ก็จะยังขยายตัวได้อีกในระดับ 20% โดยมีงานในมือ(backlog)ณ สิ้นปี 57 ราว 2 พันล้านบาท รวมทั้งยังมีงานที่รอเซ็นสัญญาและอยู่ในระหว่างการเจรจาอีกส่วนหนึ่ง
ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนงานของภาคเอกชนในปีนี้มาเป็น 50% จาก 30% ในปีก่อน ขณะที่สัดส่วนงานภาครัฐจะลดเหลือ 50% จาก 70% ในปีก่อน โดยจะยังรักษาอัตรากำไรขั้นต้นไว้ที่ระดับ 20% และอัตรากำไรสุทธิที่ระดับ 10% เช่นในปีที่ผ่านมา
"ปีนี้ตั้งเป้าไว้จะโต 20% เราจะหันไปหาเอกชนก่อน ปีที่แล้วรับรู้รายได้จากงานเอกชนนิดหน่อย แต่ปีนี้คงจะเปลี่ยนเป็น 50% เพราะงานภาครัฐยังชะลอ"นางนุชนารถ กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
อนึ่ง BKD แจ้งผลประกอบการช่วง 9 เดือนแรกปี 57 มีกำไรสุทธิ 77.52 ล้านบาท และมีรายได้รวม 722.13 ล้านบาท
นางนุชนารถ มองว่า ตลาดงานตบแต่งภายในของภาคเอกชนยังมีโอกาสเติบโตได้ในปีนี้ แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอน เนื่องจากกภาคเอกชนของไทยมีความแข็งแกร่ง โดยล่าสุดบริษัทอยู่ระหว่างเข้าร่วมประมูลงานปรับปรุงโรงแรมอิมพีเรียลควีนส์ปาร์คเดิมของกลุ่มของทีซีซี กรุ๊ป จำนวน 800 ห้อง คาดว่าจะออกประมูลในช่วงกลางเดือน ก.พ. ซึ่งเบื้องต้นบริษัทน่าจะได้งานส่วนหนึ่งด้วย ขณะที่ภาคเอกชนยังมีงานปรับปรุงอาคารสำนักงานต่างๆ จำนวนมากอีกด้วยในปีนี้
นอกจากนี้ บริษัทยังจะรุกงานในต่างประเทศ โดยเฉพาะในกัมพูชา ซึ่งเมื่อปีที่แล้วได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางธุรกิจ (MOU) กับ Chip Mong Land Co.,Ltd. ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่อันดับหนึ่งของกัมพูชา โดยเข้าไปรับงานตกแต่งภายในโครงการ "The Park Land Sen Sok" มูลค่างานกว่า 1 พันล้านบาท คาดว่าสิ้นเดือนก.พ.น่าจะมีการลงนามสัญญาได้ และยังมีโอกาสรับงานในโครงการอื่นๆ ของกลุ่มดังกล่าว ตลอดจนยังมองโอกาสการเข้าไปรับงานในพม่าอยู่ แม้จะมีการแข่งขันสูงก็ตาม
นางนุชนารถ เปิดเผยอีกว่า บริษัทยังมองโอกาสที่จะสร้างรายได้ระยะยาวเข้ามาเสริมธุรกิจหลัก โดยขณะนี้สนใจกิจการโรงไฟฟ้า หลังจากที่ได้ลงทุนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปบนหลังคาโรงงานเพื่อผลิตไฟฟ้าขนาดครึ่งเมกะวัตต์ โดยล่าสุดมีโรงไฟฟ้าในต่างจังหวัดยื่นข้อเสนอมาให้บริษัทเข้าซื้อกิจการ โดยเป็นโรงไฟฟ้าที่มีการผลิตไฟฟ้าแล้วและได้รับค่าไฟฟ้าในระบบการให้เงินส่วนเพิ่มรับซื้อไฟฟ้า(Adder) ซึ่งมีอัตราผลตอบแทนการลงทุนสูงกว่าอัตราเงินสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนตามต้นทุนที่แท้จริง (FiT) ที่รัฐบาลเพิ่งกำหนดออกมา แต่ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา