สำหรับผลการดำเนินงาน ณ เดือน พ.ย. 57 บริษัทฯ มีมูลค่าทรัพย์สินภายใต้การจัดการกว่า 88,493.41 ล้านบาท จากทั้ง 4 ธุรกิจ ได้แก่ กองทุนรวม กองทุนส่วนบุคคล กองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ โดยเพิ่มขึ้นจากมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ ณ เดือน พ.ย. 56 ที่ 75,231.47 ล้านบาท หรือคิดเป็นการเติบโตของ AUM กว่า 17.63%
นายวินกล่าวว่า ปีนี้มีแผนออกกองทุนใหม่ 12 กอง แบ่งเป็นกองทุนประเภท Trigger Fund 5-6 กอง, กองทุนหุ้นในประเทศ 3 กอง ซึ่งเป็นการออกร่วมกับการแถมประกันสุขภาพ และกองทุนต่างประเทศอีก 3 กอง เป็นกอง ETF ดัชนี 1 กอง และดูตลาดเกิดใหม่มองจีน รัสเซีย บราซิลอยู่ และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ 1 กอง โดยม.ค.บลจ.จะออกราว 4 กอง
"แผนปีนี้เรายังมุ่งเน้นขยายการเติบโตของ AUM ในทุกธุรกิจทั้ง 4 ประเภท โดยกองทุนรวมส่วนบุคคลและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพยังเน้นขยายฐานนักลงทุนสถาบันภาครัฐและภาคเอกชนมากขึ้น ควบคู่ไปกับการรักษาฐานลูกค้าเดิม ขณะที่ในส่วนของกองทุนรวม ในปีนี้เรามุ่งเน้นการเสนอขายกองทุนที่มีความหลากหลายและจับจังหวะเวลาการลงทุนควบคู่กัน (Timing) โดยเฉพาะกองทุนประเภท Trigger Fund โดยมีทั้งกองทุนที่ลงทุนในหุ้นทั้งในและต่างประเทศเพื่อสร้างผลตอบแทนให้แก่นักลงทุน และเน้นการแนะนำการลงทุนจากผลิตภัณฑ์ปัจจุบันที่หลากหลายตามความเหมาะสมกับภาวะการลงทุนแต่ละช่วง รวมทั้งเสนอขายกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีในแผนแล้ว 1 กองทุน ได้แก่ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ไทยแลนด์ โฮสพีทาลิตี้ โดยคาดว่าจะเสนอขายได้ในเร็วๆ นี้" นายวิน กล่าว
สำหรับในไตรมาสที่ 1/58 จะเน้นผลักดันกองทุนรวมประเภทหุ้นเพื่อสร้างผลตอบแทนให้แก่นักลงทุน เนื่องจากมองว่าหุ้นในปีนี้ยังเป็นสินทรัพย์ที่น่าสนใจในการลงทุน ซึ่งปัจจุบัน บลจ.วรรณ มีกอง Flagship ที่เน้นลงทุนในหุ้นอยู่แล้ว คือ กองทุนเปิด 1AMSET50 ซึ่งเน้นคัดเลือกหุ้นที่ลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่และมีสภาพคล่องสูง ขณะที่ก็มีการกระจายการลงทุนในหุ้นขนาดกลางและเล็กบางส่วนเพื่อสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่มให้กับการลงทุน รวมทั้งอีกหนึ่งกองทุนที่แนะนำ ได้แก่ กองทุนเปิด ONE-PREMIER ซึ่งเน้นการจัดสรรเงินลงทุนไปในสินทรัพย์ต่างๆ ทั้งหุ้น ตราสารหนี้ ตราสารอนุพันธ์ ทองคำและน้ำมัน ฯลฯ ที่เหมาะสมกับการลงทุนในแต่ละช่วงเวลานั้นๆ เพื่อให้กองทุนฯ บรรลุการสร้างผลตอบแทนเป้าหมายตามที่ได้ตั้งไว้โดยเฉลี่ยที่ 5-8% ต่อปี โดยการรับซื้อคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติปีละไม่เกิน 4 ครั้งและควบคุมระดับความเสี่ยงของกองทุนทำให้กองทุนไม่ผันผวนไปกับตลาดมากนักในช่วงเวลาที่สถานการณ์ผันผวน โดยกองทุนฯ นี้นอกจากสร้างผลตอบแทนควบคู่กับการบริหารความเสี่ยงแล้วนักลงทุนยังได้รับความคุ้มครองจากกรมธรรม์ประกันชีวิต โดยวงเงินความคุ้มครองสูงสุดไม่เกิน 1 ล้านบาท (ตามเงื่อนไขกองทุน) อีกด้วย ซึ่งจุดนี้เองทำให้กองทุนเปิด ONE-PREMIER มีความโดดเด่นเมื่อเทียบกับกองทุนอื่นๆ
ทั้งนี้ ในช่วงเดือน ม.ค.ได้เสนอขายกองทุนใหม่ (IPO) ไปแล้ว 2 กองทุน ได้แก่ กองทุนเปิด วรรณ เจแปน5 ฟันด์ ซึ่งเป็นกองทุนประเภท Trigger Fund ที่เน้นลงทุนในหุ้นญี่ปุ่นและกองทุนเปิด 1ENHANCED6M2 ซึ่งเป็นกองทุนรวมตราสารหนี้สำหรับนักลงทุนประเภท AI ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีและมีแผนการเสนอขายกองทุนอย่างต่อเนื่อง ทำให้มองว่าปีนี้เราจะสามารถสร้าง AUM ให้เติบโตได้กว่า 28% ตามเป้าหมายที่วางไว้ได้
ด้านนายมณฑล จุนชยะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บลจ.วรรณ กล่าวถึงมุมมองเศรษฐกิจและการลงทุนในปี 58 ว่าในด้านเศรษฐกิจต่างประเทศนั้น ในส่วนของสหรัฐอเมริกา เชื่อว่าปีนี้ยังเติบโตได้ดีต่อเนื่องจากปีก่อนหน้าจากการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศที่ฟื้นตัวต่อเนื่องหลังที่ทางการสหรัฐอเมริกามีมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสหรัฐอเมริกายังไม่ใช่ปัจจัยกดดันในช่วงเวลานี้ เนื่องจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายน่าจะเริ่มขึ้นในปีถัดไปมากกว่า เพราะธนาคารกลางสหรัฐเองน่าจะยังคงรอดูตัวเลขเศรษฐกิจให้เติบโตดีขึ้นอย่างชัดเจนก่อนที่จะตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
ในส่วนของยูโรโซนและญี่ปุ่น ในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจยังคงเปราะบางและเงินเฟ้อลดลงจากราคาน้ำมันที่ลดลงอย่างมาก ทำให้ตลาดคาดการณ์ว่าจะมีมาตรการการสนับสนุนเศรษฐกิจของทางการทั้ง 2 ประเทศเพิ่มเติม โดยเฉพาะการผ่อนคลายนโยบายการเงินเชิงปริมาณ (QE) ของธนาคารกลางทั้ง 2 ประเทศดังกล่าว และหากมีการอัดฉีดสภาพคล่องเพิ่มเติมแล้วนั้นก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสนับสนุนให้มีสภาพคล่องไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพิ่มเติมและเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้นทั่วโลกเช่นกัน
แต่อย่างไรก็ดี นักลงทุนยังต้องติดตามด้านแรงกดดันของราคาน้ำมันที่ยังคงปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากยังลดลงเพิ่มเติมก็อาจทำให้กระทบต่อเศรษฐกิจและรายได้ของประเทศที่ส่งออกน้ำมันหลัก อย่างเช่นรัสเซีย และอาจกดดันให้ค่าเงินรูเบิลกลับมาอ่อนค่าอีกครั้งและอาจกระทบต่อเศรษฐกิจในกลุ่มยูโรโซนได้ เนื่องจากรัสเซียซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจที่ค่อนข้างใหญ่และยุโรปเป็นประเทศคู่ค้าหลักต่อกัน รวมทั้งติดตามในเรื่องผลการคัดเลือกประธานาธิบดีของกรีซในวันที่ 25 ม.ค. 58 หลังจากที่ไม่สามารถคัดเลือกได้ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา และปัจจุบันผลการสำรวจของคะแนนเสียงพบว่าฝ่ายค้านมีคะแนนเสียงที่มากกว่า ซึ่งหากฝ่ายค้านได้รับชัยชนะและจัดตั้งรัฐบาลได้เพียงพรรคเดียวจริงและสามารถผลักดันให้กรีซออกจากยูโรโซนได้สำเร็จแล้วนั้น ก็อาจส่งผลกระทบต่อยูโรโซนได้และอาจกดดันให้ Sentiment ของการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกมีความผันผวนในบางจังหวะเวลา
ขณะที่ในด้านปัจจัยในประเทศ มองว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นจากปีก่อนหน้า โดยเฉพาะในส่วนของภาคการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศที่เชื่อว่าผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งการใช้จ่ายของภาครัฐที่เข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจได้มากขึ้น เช่น การเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีและงบลงทุน รวมทั้งการกู้ยืมเงิน (Financing) และเร่งรัดประมูลสำหรับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะรถไฟฟ้าสายสีแดง สีเขียว และระบบโครงการรถไฟชานเมืองต่างๆ เป็นต้น ขณะที่ภาคการส่งออกน่าจะฟื้นตัวอย่างช้าๆ เนื่องจากต้องดูแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจโลกควบคู่กันไปด้วย ประกอบกับความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพื่อนบ้านก็เริ่มรุนแรงขึ้นเช่นกัน ซึ่งโดยรวมมองว่าจีดีพีของไทยในปีนี้น่าจะเติบโตได้ที่ 4.0-5.0% หลังจากที่ปี 2557 ที่คาดว่าจะเติบโตเพียง 0.8%
และจากภาพรวมของเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้นในปีนี้ แรงสนับสนุนจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจรวมทั้งการเมืองไทยที่มีเสถียรภาพมากขึ้น และแนวโน้มการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพิ่มเติมผ่าน QE ในเม็ดเงินจำนวนมหาศาลของธนาคารกลางหลักในหลายประเทศ ทำให้มองว่าสินทรัพย์ที่น่าสนใจที่จะลงทุนในปีนี้ยังคงเป็นการลงทุนในหุ้นอยู่ดี ประกอบกับมูลค่าหุ้นไทยที่ยังต่ำโดยสะท้อนจากระดับราคาหุ้นต่อกำไร (PE) ในปีนี้ที่ระดับ 13.80 เท่า เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยภูมิภาคที่ระดับ 14.04 เท่า ขณะที่อัตราการจ่ายปันผลของหุ้นไทยสูงกว่าค่าเฉลี่ยภูมิภาค โดยอัตราการจ่ายปันผลหุ้นไทยปีนี้อยู่ที่ 3.28% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยภูมิภาคที่ 2.67% ทำให้มองว่าหุ้นไทยยังมีความน่าสนใจและดึงดูดเม็ดเงินนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยได้ โดยทาง บลจ.วรรณ ประเมินว่า SET Index ในปีนี้จะมีโอกาสปรับตัวขึ้นแตะระดับที่ 1,750 จุดได้ ขณะที่ในด้านสินค้าโภคภัณฑ์อย่างเช่นทองคำและน้ำมัน ยังคงมีแนวโน้มปรับลดลงและผันผวนตลอดในช่วงปีนี้ "มองดัชนีหุ้นไทยปี 58 มีโอกาสแตะ 1,720-1,750 จุด และโอกาสปรับลงที่ 1,400 จุด แต่โดยรวมมองเป็นโอกาสปรับขึ้นมากกว่าถึงแม้ตลาดจะผันผวนบ้างแต่โอกาสที่นักลงทุนทำกำไรมีมาก เพราะตลาดหุ้นไทยปีนี้จะไม่เคลื่อนไหวตามตลาดหุ้นต่างประเทศมากนักเพราะมีปัจจัยที่น่าสนใจคือ การเมือง การกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศแบบเฉพาะเจาะจง มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และปัจจัยภาษี ที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยยังมีความน่าสนใจสูง ขณะที่มองเม็ดเงินไหลเข้ายังหนุน ส่วนปัจจัยที่ดัชนีจะปรับลง 1,400 จุด เช่น ผิดหวังนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ผลประกอบการบจ.ออกมาผิดหวัง ถ้าผิดหวังมากก็จะขายทำกำไร โดยเราประเมินกำไรบจ.ปีนี้เติบโต 12-15% จากปีก่อน ซึ่งปัจจัยกดดันหลักคือกลุ่มพลังงานเพราะราคาน้ำมันปรับลง 30-50% แล้วจากกลางปี 57 ดึงกลุ่มปตท.ปรับลง"นายมณฑล กล่าว
ส่วนหุ้นต่างประเทศมอง 3 ประเทศเอเชียที่ยังมีศักยภาพสูง ได้แก่ ตลาดหุ้นญี่ปุ่นคาดหวังเม็ดเงินอัตฉีดสภาพคล่องของธนาคารกลางญี่ปุ่นที่ยังมีต่อเนือง ตลาดหุ้นจีนมูลค่าหุ้นยังถูก ซึ่งเศรษฐกิจไม่ได้แย่ยังอยู่ในแผน และประเทศอาเซียน ซึ่งจะได้รับผลดีจากการเปิดประชาคมอาเซียน (AEC) น่าจะส่งผลดีต่อตลาดหุ้นต่อเนื่อง
กลุ่มที่แนะนำเป็นธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่รับผลดีการลงทุนภาครัฐ อสังหาฯ การบริโภคพื้นฐาน เช่น ชอปปิ้งปกติที่ไม่แพงมาก การส่งออก สื่อสาร อาหาร ทั้งนี้ประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังน่าจะปรับลงอีก 1-2 ครั้ง หรือครั้งละ 0.25% เพราะเงินเฟ้อยังต่ำมาก กลุ่มส่งออกน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วปีนี้น่าจะได้ประโยชน์จากเงินบาทที่อ่อนลง โดยประเมินค่าเงินปีนี้ที่ 32.50-33.50 บาท/ดอลลาร์
สำหรับราคาน้ำมันมองมีโอกาสทะลุ 40 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งถ้าหลุด 40 ดอลลาร์เป็นโอกาสลงทุนได้ และครึ่งหลังมีโอกาสปรับขึ้นถึง 50 ดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม ช่วงสั้นไม่แนะนำลงทุนในน้ำมันเพราะไม่มีใครทราบจุด bottom อยู่ตรงไหน