ทั้งนี้ เป้าหมายของกระทรวงคมนาคมต้องการให้ประชาชนได้รับมาตรฐานการบริการที่ดี ปลอดภัย และค่าโดยสารเป็นธรรม โดยจะไม่เข้าไปควบคุมจนทำให้กลไกตลาดถูกบิดเบือน หรือไปกำหนดราคาจนทำให้แข่งขันไม่ได้ แต่เพียงได้ให้ข้อสังเกตและเป็นห่วงว่าการลดราคาต่ำมากเกินไปควรคำนึงถึงผลกระทบต่อธุรกิจการบินที่อาจจะเสียหายได้ อย่างไรก็ตาม กระทรวงคมนาคมไม่มีอำนาจในการบังคับให้สายการบินกำหนดค่าโดยสารเท่าไรได้
"ราคาโปรโมชั่นต่ำๆ ทำได้ แต่อย่าเป็นราคาเทียมที่หาซื้อจริงไม่ได้ นี่เป็นข้อห่วงใย ที่ผ่านมาการสื่อสารอาจจะผิดพลาดและทำให้เข้าใจผิด"รมว.คมนาคม กล่าว
สำหรับสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ปรับลดลงอย่างมากในขณะนี้จะส่งผลทำให้ค่าโดยสารเครื่องบินลดลงหรือไม่นั้น พล.อ.อ.ประจิ นกล่าวว่า ได้มอบหมายให้กรมการบินพลเรือน (บพ.) ตรวจสอบต้นทุนโครงสร้างค่าโดยสาร ซึ่งมีปัจจัยจากต้นทุนหลายด้าน ทั้งน้ำมัน ค่าแรง ค่าบุลากร ค่าภาษี ค่าประกันภัย โดยค่าน้ำมันคิดเป็นสัดส่วน 40% แต่ปกติกรณีราคาน้ำมันผันผวน สายการบินจะกำหนดเป็นค่าธรรมเนียมน้ำมันเชื้อเพลิง (Fuel Surcharge) แยกออกมาเพราะสามารถปรับขึ้นลงได้ทันตามราคาที่เปลี่ยนแปลงได้ ขณะที่การปรับค่าโดยสารส่วนอื่นทำได้ยากกว่า
นายสมชาย พิพุธวัฒน์ อธิบดีกรมการบินพลเรือน กล่าวว่า เดิมคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) กำหนดอัตราค่าโดยสารเครื่องบิน แต่เนื่องจากมีหลายเส้นทาง หลายสายการบินที่ให้บริการ ดังนั้นเพื่อความยืดหยุ่น กบร.จึงกำหนดเกณฑ์เพดานขั้นสูงไว้ จากเดิมที่มีทั้งเพดานขั้นสูงขั้นต่ำ เพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีมากขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้มีค่าโดยสารทั้งแบบราคาเดียวทุกที่นั่งและแบบกำหนดราคาผันแปร ซื้อก่อนได้ถูก แต่มีเงื่อนไขห้ามเปลี่ยน ห้ามเลื่อนเดินทาง รวมถึงยังไม่รวมค่าธรรมเนียมต่างๆ ค่าสัมภาระ ค่าภาษีสนามบิน ซึ่งราคาโปรโมชั่นที่ 0 บาทนั้น ผู้บริโภคต้องดูเงื่อนไขด้วย และต้นทุนของโลว์คอสต์สูงกว่ารถทัวร์แน่นอน