นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชียและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AAV กล่าวว่า สายการบินไทยแอร์เอชียได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง ดังนั้น ในเดือนก.พ.จะยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียมน้ำมัน(Fuel Surcharge)ทุกเส้นทางบินต่างประเทศ ขณะที่เส้นทางในประเทศไม่ได้เก็บค่าธรรมเนียมน้ำมันอยู่แล้ว
"การยกเลิกเก็บค่าธรรมเนียมทำทันทีไม่ได้เพราะได้มีการขายตั๋วโดยสารล่วงหน้าไปแล้วกว่า 30% ซึ่งใช้ต้นทุนราคาน้ำมันเดิมอยู่"นายธรรศพลฐ์ กล่าว
สำหรับต้นทุนน้ำมันมีสัดส่วน 44% ของต้นทุนรวม ปัจจุบันราคาน้ำมันเครื่องบิน JET A1 ตามราคาอ้างอิงสิงคโปร์อยู่ ที่ 85 เหรียญ/แกลลอน จากก่อนหน้าราคาอยู่ที่ 120 เหรียญ/แกลลอน ทำให้ต้นทุนน้ำมันของบริษัทลดลง 2-3%
ทั้งนี้ สายการบินไทยแอร์เอเชีย จัดเก็บค่าธรรมเนียมน้ำมัน 4 ขั้น ได้แก่ เส้นทางบินใช้ชั่วโมงบิน 1-2 ชั่วโมง จัดเก็บ 275 บาท/คน/เที่ยว , ชั่วโมงบิน 2-3 ขั่วโมง จัดเก็บ 405 บาท/คน/เที่ยว ,ชั่วโมงบิน 3-4 ชั่วโมง จัดเก็บ 565 บาท/คน/เที่ยว และ ชั่วโมงบินตั้งแต่ 4 ชั่วโมงขึ้นไป จัดเก็บ 715 บาท/คน/เที่ยว ขณะที่สายการบินอื่นเก็บค่าธรรมเนียมการบินเก็บค่าธรรมเนียมน้ำมันที่ 1,100, 1,500 , 2,000 และ 2,600 บาทตามลำดับ
"เราเป็นรายแรกที่ยกเลิก Fuel Surcharge แต่ท้ายสุดอยู่ที่การแข่งขัน ผู้โดยสารเขาไม่สนใจ เขาดูราคารวม เขาเทียบกับสายการบินอื่น"นายธรรศพลฐ์ กล่าว
นายธรรศพลฐ์ คาดว่าราคาตั๋วโดยสารเฉลี่ยปีนี้จะปรับขึ้น 3-5% จากปีก่อนที่มีราคาเฉลี่ยที่ 1,700-1,800 บาท/คน/เที่ยว โดยธุรกิจท่องเที่ยวปีนี้มีแนวโน้มกระเตื้องขึ้น แต่คงยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติเหมือนในปี 55 ที่มีราคาตั๋วเฉลี่ย 1,900-2,000 บาท/คน/เที่ยว ขณะที่การแข่งขันในธุรกิจยังมีอยู่ แต่เชื่อว่าจะไม่รุนแรงเหมือนปีก่อน เพราะความต้องการเดินทางมีเพิ่มขึ้น
ในไตรมาสแรก ปีนี้คาดว่า อัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ยที่ 81-82% ดีขึ้นจากเฉลี่ย 80% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน และยอดจองในช่วงตรุษจีนเข้ามามากขึ้น
"ถ้าไตรมาสแรก Cabin Factor ไม่ถึง 85% ก็ยังถือว่ายังไม่กลับสู่ภาวะปกติ ตอนนี้ชะลอหน่อยเพราะบ้านเรายังมีกฎอัยการศึก แต่แนวโน้มดีขึ้น ขอดูไตรมาสแรกก่อนถึงจะประเมินไตรมาส 2 ไตรมาส 3 ไตรมาส 4"นายธรรศพลฐ์ กล่าว
นายธรรศพลฐ์ กล่าวว่า ไทยแอร์เอเชียยังคงทำราคาตั๋วโดยสารโปรโมชั่นที่ 0 บาทอยู่ ซึ่งไม่ได้ส่งผลกระทบต่อบริษัทมากนัก เพราะทำราคาโปรโมชั่นจำนวนไม่กี่ที่นั่ง ขณะเดียวกันบริษัทก็สามารถขายตั๋วในราคาที่สูงได้จากเส้นทางที่คนจองเข้ามามากและมีการจองในช่วงใกล้วันเดินทาง เพราะบริษัทใช้กลยุทธ์ราคาแบบ Dynamic Pricing
นอกจากนี้ บริษัทยังมีรายได้เสริมจากการขายของที่ระลึก อาหารบนเครื่อง ค่าบริการเก็บสัมภาระ ค่าประกันภัย โดยปีที่ผ่านมามีรายได้เฉลี่ยที่ 368 บาท/คน หรือประมาณ 5 พันล้านบาท
"ราคาโปรของไทยแอร์เอเชียยืนยันไม่กระทบกับคมนาคมขนส่งอื่น เพราะดูราคาเฉลี่ยทั้งปี 80-90% ที่เราขายตั๋ว ราคาโปรมีแค่หยิบมือเดียวไม่กี่เปอร์เซ็นต์"นายธรรศพลฐ์ กล่าว
ทั้งนี้ ไทยแอร์เอเชียยังคงเป้าหมายจำนวนผู้โดยสารปีนี้ที่ 14.5 ล้านคน จาก 12.1 ล้านคนในปีก่อน โดยปัจจุบันสัดส่วนจำนวนผู้โดยสารในประเทศอยู่ที่ 55% และผู้โดยสารต่างประเทศ อยู่ที่ 45% โดยมีนักท่องเที่ยวจากจีนเป็นอันดับหนึ่งในสัดส่วน 19% รองลงมาเป็นมาเลเซีย,อังกฤษ และอินเดีย