จากนั้นจะจัดการประชุมครั้งที่ 2 วันที่ 5-7 ก.พ.58 และครั้งที่ 3 วันที่ 25-27 ก.พ.58
ทั้งนี้ ไทยได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการ 3 ชุด คือ คณะอนุกรรมการที่ปรึกษา โดยมี รมช.กลาโหม เป็นประธาน คณะอนุกรรมการบูรณาการแผนงานและการดำเนินงาน ที่มี รมว.คมนาคม เป็นประธาน คณะอนุกรรมการด้านการเงินและรูปแบบการลงทุน ที่มี รมช.คมนาคม เป็นประธาน
สำหรับแผนงานการก่อสร้างรถไฟทางมาตรฐาน (Standard gauge) 1.435 เมตร เส้นทางหนองคาย-โคราช-แก่งคอย-มาบตาพุด ระยะทาง 734 กม. และเส้นทางแก่งคอย-กรุงเทพฯ 133 กม.วงเงินลงทุนประมาณ 4 แสนล้านบาท แบ่งเป็น 4 ช่วง ช่วงที่ 1 กรุงเทพ-แก่งคอย ระยะทาง 133 กม. และช่วงที่ 2. แก่งคอย-มาบตาพุด ระยะทาง 246.5 กม.เริ่มก่อสร้าง 1 ก.ย.58 ช่วงที่ 3. แก่งคอย-นครราชสีมา ระยะทาง 138.5 กม.และช่วงที่ 4. นครราชสีมา –หนองคาย ระยะทาง 355 กม. เริ่มก่อสร้าง 1 ธ.ค.58
"ภายในวันที่ 1 มี.ค.นี้จะมีการจัดทีมลงพื้นที่สำรวจออกแบบ คาดว่าจะใช้เวลาออกแบบ 6-7 เดือน เร็วกว่าการทำงานปกติ เนื่องจากจะใช้เครื่องมือที่มีเทคโนโลยีทันสมัยเข้ามาช่วยทำงาน และการก่อสร้างจะแล้วเสร็จใน 2 ปีครึ่ง"รมว.คมนาคม กล่าว
พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า ตั้งแต่ช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค.57 ได้รวบรวมบริษัทก่อสร้างทั้งรายใหญ่ของไทย บริษัทรับเหมาช่วง และบริษัทผู้แทนบริษัทต่างชาติ ที่มีผลงานและความน่าเชื่อถือ มีประสบการณ์การทำงานในต่างประเทศได้ 12-15 ราย ส่วนฝ่ายจีนมีรัฐวิสาหกิจด้านรถไฟ 5 แห่ง และมีบริษัทย่อยที่มีความสามารถด้านก่อสร้าง งานระบบรถ อาณัติสัญญาณ อีกจำนวนมาก เพื่อเตรียมไว้และนำมาคัดเลือกร่วมกับฝ่ายจีนต่อไป
ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.คมนาคม กล่าวว่า จีนมีความพร้อมเรื่องการลงทุนและเปิดกว้างทุกรูปแบบ ทั้งให้เงินกู้ 100% แล้วให้ไทยใช้คืนภายหลัง หรือจะเป็นการร่วมลงทุน ซึ่งคณะอนุกรรมการด้านการเงินและรูปแบบลงทุนของไทยจะพิจารณาเลือกรูปแบบที่ดีที่สุด โดยของไทยมีทั้งสามารถใช้งบประมาณ เงินกู้ หรือ ระดมทุนด้วยการออกกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนระบบและตัวรถไฟฟ้านั้นจะใช้เทคโนโลยีของจีนแน่นอน แต่จะต้องออกแบบให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศของไทย