KTAM ตั้งเป้า AUM ปี 58 โต 15% แตะ 6.87 แสนลบ., เปิดขาย 6 กองทุนใหม่

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday January 19, 2015 11:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.กรุงไทย (KTAM) เปิดเผยว่า ในปี 58 บริษัทตั้งมูลค่าทรัพย์สินสุทธิภายใต้การบริหารจัดการไว้ที่ 687,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 57 ประมาณ 92,000 ล้านบาท หรือประมาณ 15% โดยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิจะเพิ่มขึ้นจากนักลงทุนทั่วไป ประมาณ 80% และ 20% เพิ่มจากนักลงทุนสถาบัน

พร้อมกันนี้ บริษัทมีแผนจะเปิดจำหน่ายกองทุนรวมประเภท ตราสารทุนที่ลงทุนทั้งในและต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ไม่ต่ำกว่า 6 กองทุน เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกใหม่ๆ ให้กับผู้ลงทุน ส่วนกองทุนอสังหาริมทรัพย์ ในปีนี้ จะมีเปิดจำหน่ายกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ชุดที่ 1 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มูลค่าโครงการประมาณ 20,000 ล้านบาท และกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ของกลุ่มเอราวัณ มูลค่าโครงการประมาณ 2,000 ล้านบาท

ในปีนี้ บริษัทจะเน้นการเป็นบริษัทจัดการที่มีผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลาย ให้ลูกค้าที่เลือกลงทุน ตามความเหมาะสมกับสถานการณ์ ในแต่ละช่วงเวลา เพื่อเป็นการบริหารพอร์ตการลงทุน ให้มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดี (Asset Allocation) โดยบริษัทจะมีการสื่อสารกับลูกค้า เพิ่มมากขึ้น ผ่านช่องทางต่างๆของบริษัท เพื่อให้นักลงทุนได้รับทราบถึงสถานการณ์ในแต่ละขณะ ว่าควรจะมีการปรับพอร์ตการลงทุนอย่างไร เพื่อเป็นโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดีในอนาคต โดยบริษัทจะดูแลลูกค้าให้มีความใกล้ชิดมากขึ้น

นอกจากนี้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา บริษัทได้รับความร่วมมือที่ดีจากธนาคารกรุงไทย ในการสนับสนุนการจำหน่ายกองทุน ส่งผลให้มูลค่าสินทรัพย์ที่อยู่ภายใต้การบริหารและจัดการของบริษัทเติบโตอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ในปีนี้บริษัทและธนาคารกรุงไทย จะร่วมมือกันขยายฐานลูกค้าให้เพิ่มมากขึ้น และรักษาส่วนแบ่งการตลาดไว้ที่อันดับ 3 ของอุตสาหกรรม

สำหรับผลการดำเนินงานของกองทุนที่โดดเด่นในปีที่ผ่านมา ประเภทกองทุนตราสารทุน ได้แก่ กองทุนเปิดกรุงไทย สมาร์ท อิควิตี้ ฟันด์ ( KTEF ) ผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2557 อยู่ที่ 20.50% โดยกองทุนมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิประมาณ 240 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ประมาณ 117%

กองทุนเปิดกรุงไทย ซีเล็คทีฟ อิควิตี้ฟันด์ ( KTSE )ผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี อยู่ที่ 15.75% มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิเพิ่มขึ้นจากปี 2556 ประมาณ 65% ซึ่งทั้ง 2 กองทุน ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า ดัชนี SET Index ซึ่งอยู่ที่ 15.32%

ส่วนกองทุนตราสารหนี้ ได้แก่ กองทุนเปิดกรุงไทยธนทรัพย์พลัส (KTPLUS) เป็นกองทุนตราสารหนี้ที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นอย่างมากโดย ในปี 2556 มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิประมาณ 624 ล้านบาท ในปี 2557 เพิ่มขึ้นเป็น 29,178 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น ประมาณ 4,570% กองทุน KTPLUS ผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2557 อยู่ที่ 2.50% เกณฑ์มาตรฐาน อยู่ที่ 2.66% กองทุนเปิดกรุงไทยตราสารหนี้ปันผล (KTDF) ผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี อยู่ที่ 3.83% ในปีที่ผ่านมา จ่ายเงินปันผล 2 ครั้ง ในอัตรารวม 0.45 บาทต่อหน่วย หากเปรียบเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 1 ปี ของ3 แบงก์ใหญ่ ผลตอบแทนอยู่ที่ 1.61% และ Benchmark อยู่ที่ 5.56% ซึ่งกองทุนมีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิประมาณ 70 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ประมาณ 183%

สำหรับกองทุนที่มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิโตเพิ่มขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม ได้แก่ กองทุน Money market เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ประมาณ 65% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่โต 23.3% กองทุน LTF โตเพิ่มขึ้น 37.6% ค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม อยู่ที่ 26.7% ส่วนกองทุน RMF โตใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยที่ 21.70%

ผลการดำเนินงานของบริษัท ในปี 57 ไม่ป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยตั้งเป้ามูลค่าทรัพย์สินสุทธิ ไว้ที่ 646,000 ล้านบาท แต่บริษัทมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2557 อยู่ที่ 593,663 ล้านบาท เนื่องจากเหตุการณ์ชุมชนทางการเมืองส่งผลให้กองทุนบางประเภทไม่สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

นายวีระ วุฒิคงศิริกูล รองกรรมการผู้จัดการ ผู้บริหารสายงานจัดการลงทุน เปิดเผยถึง แนวโน้มการลงทุนในตราสารทุน ในปี 58 ว่า จะมีความผันผวนสูงกว่าปีที่ผ่านมา โดยปัจจัยที่ก่อให้เกิดความผันผวนของตลาดหุ้นได้แก่ นโยบายทางการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลัก ซึ่งจุดสนใจของนักลงทุนอยู่ที่นโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่คาดว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายภายในปีนี้

ในขณะที่การดำเนินนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางของประเทศกลุ่มเศรษฐกิจสำคัญอื่น เช่น กลุ่มประเทศยูโรโซน และญี่ปุ่น ที่ยังต้องอาศัยการอัดฉีดสภาพคล่องเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ ประเทศจีนอาจต้องเผชิญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เริ่มลดความร้อนแรงลงจากช่วงก่อนหน้า ซึ่งก็คงต้องใช้นโยบายทางการเงิน เพื่อเสริมสร้างสภาพคล่องและชะลอปัญหาหนี้เสียในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่อาจเกิดขึ้น โดยความแตกต่างในการใช้นโยบายทางการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลักจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตลาดการเงิน ทั้งตลาดอัตราแลกเปลี่ยน พันธบัตร ตลาดหุ้น และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เกิดการเคลื่อนย้ายเม็ดเงินลงทุน ซึ่งน่าจะมีการปรับตัวผันผวนตลอดทั้งปี

นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ช่วงกลางปี 57 ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจทั้งต่อประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและประเทศผู้นำเข้า และ ยังส่งผลต่อเนื่องไปยังราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ โดยเฉพาะราคาพืชผลทางการเกษตร ในปีนี้ก็น่าจะได้รับผลกระทบดังกล่าวด้วย ดังนั้น การลงทุนในตลาดหุ้นปีนี้ ก็คงต้องมาวิเคราะห์ถึงผลกระทบว่ากลุ่มอุตสาหกรรมใดได้รับผลกระทบไปในทางใดบ้าง อีกทั้งนโยบายการกำหนดราคาพลังงานของรัฐบาลเพื่อให้สอดคล้องกับราคาต้นทุน และลดการบิดเบือนกลไกตลาด ก็จะมีความสำคัญในการกำหนดกลยุทธ์การลงทุนในปีนี้

สำหรับปัจจัยการลงทุนในประเทศในปีนี้ เศรษฐกิจไทยซึ่งจะกระทบต่อแนวโน้มผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน คาดว่าน่าจะปรับตัวได้ดีกว่าปี 2557 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสองไตรมาสแรกของปี เนื่องจากฐานครึ่งปีแรกของปี 2557 ที่ผ่านมาอยู่ในระดับที่ต่ำ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจะทำให้การลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนเป็นตัวนำทางเศรษฐกิจในปีนี้ และจะมีบทบาทสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศได้ในระยะยาว นอกจากนี้ การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในช่วงปลายปี ตลอดจนการค้าขายพรมแดนกับประเทศเพื่อนบ้านที่ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ก็จะเป็นประโยชน์ในการขยายตลาดและกระจายการเติบโตไปยังภูมิภาค

ส่วนกลยุทธ์ในการบริหารกองทุนในปีนี้ บริษัทจะบริหารกองทุนแบบเชิงรุก(Active management style) ที่ใช้การผสมผสานระหว่างการใช้ การวิเคราะห์ปัจจัยมหภาค (Top-Down) ในการปรับเปลี่ยนสัดส่วนการลงทุนในสอดคล้องกับภาวการณ์ลงทุน เช่น การปรับสัดส่วนการถือครองเงินสด การปรับเปลี่ยนกลุ่มอุตสาหกรรม (Sector Rotation) และการวิเคราะห์เจาะลึกเป็นรายบริษัท (Bottom-Up Approach) ที่มีการประเมินมูลค่าตามปัจจัยพื้นฐานของแต่ละหลักทรัพย์จัดทำเป็นกลุ่มหลักทรัพย์ที่สามารถลงทุนได้ (Stock Universe) โดยผู้จัดการกองทุนจะทำการคัดสรรหลักทรัพย์ในการลงทุน (Security Selection) จาก Stock Universe ดังกล่าว บริษัทมีการทบทวนหลักทรัพย์ที่อยู่ใน Stock Universe อย่างสม่ำเสมอ โดยกระบวนการลงทุนของบริษัท เป็นการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดของผู้จัดการกองทุนและฝ่ายวิจัย สำหรับกองทุนหุ้นของบริษัทในปีที่ผ่านมาให้ผลตอบแทนอยู่ระหว่าง 16-18% ในขณะที่ดัชนี SET Index อยู่ที่ 15%

ส่วนแนวโน้มตลาดตราสารหนี้ ในปี 58 บริษัทมองตลาดเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงครึ่งปีแรกคาดว่าอัตราผลตอบแทนมีแนวโน้มปรับตัวลดลงหรือแกว่งตัวในช่วงแคบตามสภาพคล่องที่ล้นตลาดจากกระแสเงินลงทุนที่ย้ายเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้เพื่อลดความเสี่ยง (Risk-aversion sentiment) จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกอันเป็นผลมาจากการร่วงลงของราคาน้ำมัน ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อที่ต่ำ ดอกเบี้ยนโยบายที่มีแนวโน้มทรงตัว และ Supply ที่มีไม่พอกับความต้องการลงทุนไม่มีอิทธิพลต่ออัตราผลตอบแทนมากนัก

ในช่วงครึ่งปีหลังหากเศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้น คาดว่าอัตราผลตอบแทนมีแนวโน้มที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เริ่มปรับเพิ่มเข้าสู่ระดับปกติ (Normalization) หลังจากเงินเฟ้อกลับมาปรับตัวเพิ่มขึ้น และกระแสเงินลงทุนเริ่มเคลื่อนย้ายไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง โดยคาดว่าอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรระยะสั้นมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นเร็วกว่าอัตราผลตอบแทนของตราสารระยะยาวที่ยังมีความต้องการจากนักลงทุนระยะยาวบางกลุ่มเช่น กลุ่มประกันชีวิต ในส่วนของผลตอบแทนกองทุนตราสารหนี้ในปี 2558 คาดว่าจะใกล้เคียงหรือต่ำกว่าที่ทำได้ในปี 2557 เล็กน้อยโดยในปี 2557 ผลตอบแทนเฉลี่ยของกองทุนตราสารหนี้ภายใต้การจัดการของ บลจ.กรุงไทย จะอยู่ระหว่าง 1.71%-4.53% ซึ่งขึ้นอยู่กับประเภทของกองทุน

นายสมชัย อมรธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิจัย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในปี 58 มีแนวโน้มดีขึ้นจากหลายปัจจัยสนับสนุน แม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจในปีที่ผ่านมาจะไม่ค่อยดีนัก แต่เริ่มมองเห็นสัญญาณที่ดีขึ้นในช่วงปลายปี การบริโภคในประเทศที่ชะลอลงในปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบในเชิงลบจากโครงการรถคันแรก ซึ่งแรงฉุดครั้งนี้น่าจะหมดลงไปในปีนี้ ราคาสินค้าการเกษตรที่ตกต่ำก็เข้ามากระทบการบริโภคด้วย แต่คาดว่าน่าจะเริ่มเห็นราคาที่มีเสถียรภาพขึ้นในปีนี้ ในส่วนของการบริโภคสินค้าประเภทอื่นเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวขึ้นในช่วงหลัง ราคาน้ำมันที่ปรับลดลงมาค่อนข้างมากจะช่วยให้ครัวเรือนมีกำลังซื้อสินค้าประเภทอื่นได้มากขึ้น ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนก็น่าจะดีขึ้นจากความชัดเจนของโครงการลงทุนภาครัฐ การก่อสร้างที่อยู่อาศัยตามแนวรถไฟฟ้ายังเกิดขึ้นต่อเนื่อง ยอด BOI ที่ได้มีการอนุมัติไปก่อนหน้านี้ก็น่าจะเริ่มมีการลงทุนเกิดขึ้นบ้าง แม้ว่าบางอุตสาหกรรมอาจจะยังเผชิญความยากลำบากในการดำเนินการและไม่มีการลงทุนใหม่เนื่องจากอัตราการใช้กำลังการผลิตยังอยู่ในระดับต่ำก็ตาม แต่ปัจจัยที่น่าจะเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างแท้จริงคือการใช้จ่ายภาครัฐ ซึ่งอัตราการเบิกจ่ายน่าจะดีขึ้นกว่า 89% ที่ทำได้ในปีก่อน มาตรการกระตุ้นที่ออกมาในช่วงก่อนหน้านี้น่าจะเริ่มเห็นเม็ดเงินไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในช่วงปีใหม่นี้ งบประมาณที่ค้างอยู่ก็น่าจะมีการใช้จ่ายให้เห็นในปีนี้ ทำให้โดยรวมทั้งปีเศรษฐกิจไทยน่าจะเติบโตได้ถึง 5% แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะมีแนวโน้มลดต่ำลงในช่วงต้นปีนี้ โดยคาดเงินเฟ้อในปีนี้เฉลี่ยไม่ถึง 1.0% แต่สาเหตุมาจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเป็นหลัก ซึ่งอยู่เหนือการควบคุมของนโยบายการเงินไทย

นอกจากนี้ เงินเฟ้อที่ลดลงจะทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคดีขึ้นส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย ประกอบกับนโยบายการคลังที่เริ่มขับเคลื่อนได้ จึงคาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงดอกเบี้ยไว้ที่ 2.0% ตลอดครึ่งแรกของปีนี้ และอาจมีการปรับดอกเบี้ยเข้าสู่สมดุลได้ในช่วงครึ่งหลังของปี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ