ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยประจำสัปดาห์: มีมูลค่าการซื้อขายรวม 415,698 ลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday January 19, 2015 18:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ประจำสัปดาห์ (12 – 16 มกราคม 2558) ปริมาณการซื้อขายตราสารหนี้ มีมูลค่ารวม 415,698 ล้านบาท หรือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณวันละ 83,140 ล้านบาท ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้าประมาณ 2% ทั้งนี้เมื่อแยกตามประเภทของตราสารแล้วจะพบว่ากว่า 59% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด หรือประมาณ 243,234 ล้านบาท เป็นการซื้อขายในตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (State Agency Bond) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นตราสารที่มีอายุคงเหลือค่อนข้างน้อย (ไม่เกิน 6 เดือน) ขณะที่พันธบัตรรัฐบาลที่ออกโดยกระทรวงการคลัง (Government Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 116,042 ล้านบาท และหุ้นกู้ที่ออกโดยภาคเอกชน (Corporate Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 13,082 ล้านบาท หรือคิดเป็น 28% และ 3% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ตามลำดับ

สำหรับพันธบัตรรัฐบาล ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกคือรุ่น LB21DA (อายุ 6.9 ปี) LB176A (อายุ 2.4 ปี) และ LB196A (อายุ 4.4 ปี) โดยมีมูลค่าการซื้อขายในแต่ละรุ่นเท่ากับ 32,641 ล้านบาท 24,702 ล้านบาท และ 20,819 ล้านบาท ตามลำดับ

ขณะที่หุ้นกู้ภาคเอกชน ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ หุ้นกู้ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รุ่น PTTC21NA (AAA) มูลค่าการซื้อขาย 1,462 ล้านบาท หุ้นกู้ของบริษัท ลีสซิ่งไอซีบีซี (ไทย) จำกัด รุ่น ICBCTL17OA (AAA) มูลค่าการซื้อขาย 1,133 ล้านบาท และหุ้นกู้ของบริษัท โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด รุ่น TLT158A (AAA) มูลค่าการซื้อขาย 832 ล้านบาท

ราคา (Price) ของพันธบัตรรัฐบาลอายุน้อยกว่า 1 ปีและอายุตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ปรับตัวเพิ่มขึ้น หรือผู้ซื้อจะได้ผลตอบแทน (Yield) ต่ำลง ประมาณ 0.02% - 0.11% หากเข้าซื้อพันธบัตรในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ การประมูลพันธบัตรระยะสั้น (อายุน้อยกว่า 1 ปี) ทั้งตั๋วเงินคลังและพันธบัตร ธปท. ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นอย่างดี ด้วยความต้องการประมูลในจำนวนที่สูงกว่าปริมาณพันธบัตรที่ออกขาย (ค่า Bid Coverage Ratio: BCR) ประมาณ 1.7 – 2.8 เท่า ส่งผลให้ราคาของพันธบัตรรุ่นที่เปิดให้มีการประมูลอยู่ในระดับที่สูง และมีส่วนทำให้ราคาของพันธบัตรรุ่นใกล้เคียงปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย

ด้านปัจจัยในต่างประเทศ จากความวิตกกังวลถึงปัญหาการเมืองของกรีซ และอัตราเงินเฟ้อของกลุ่มยูโรโซนที่ยังคงปรับตัวลดลงอย่างมาก ทำให้นักลงทุนคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) พร้อมที่จะดำเนินมาตรการเพิ่มเติม ซึ่งครอบคลุมไปถึงการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลและสินทรัพย์อื่นๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ในการประชุม ECB ที่จะมีขึ้นในวันที่ 22 ม.ค. นี้ การคาดการณ์ดังกล่าวมีส่วนทำให้ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ (SNB) ตัดสินใจประกาศยกเลิกมาตรการควบคุมสกุลเงินฟรังก์ ด้วยการยกเลิกเพดานการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งกำหนดไว้ที่ 1.20 ฟรังก์สวิสต่อ 1 ยูโร รวมถึงประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยบัญชีเงินฝากที่สูงเกินเพดานข้อยกเว้นที่กำหนดลงอีก 0.5% สู่ระดับ -0.75% ส่งผลให้ค่าเงินฟรังก์สวิสปรับตัวแข็งค่าขึ้นกว่า 30% ด้วยความผันผวนทางการเงินที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เกิดแรงซื้อในสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น พันธบัตรสหรัฐฯ (US Treasury) ทำให้ราคาพันธบัตรสหรัฐฯ สูงขึ้น และมีส่วนทำให้ราคาของพันธบัตรไทยปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย

ทั้งนี้ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (12 – 16 ม.ค. 58) แม้เม็ดเงินจากนักลงทุนต่างชาติจะไหลออกจากตราสารหนี้ระยะยาว (อายุคงเหลือ > 1 ปี) ประมาณ 8,100 ล้านบาท แต่ยังไหลเข้าในตราสารหนี้ระยะสั้น (อายุน้อยกว่า 1 ปี) ประมาณ 2,400 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ