นายเชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ TPCH กล่าวว่า บริษัทได้ปรับแผนในการดำเนินธุรกิจใหม่ ซึ่งจะทำให้มีกำลังการผลิต 150 เมกะวัตต์เร็วขึ้นกว่าแผนเดิมถึง 2 ปี ขณะที่โรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัท สตูล กรีน เพาเวอร์ จำกัด ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าเสนอขาย 9.2 เมกะวัตต์ ที่จ.สตูล และบริษัท พัทลุง กรีน เพาเวอร์ จำกัด ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าเสนอขาย 9.2 เมกะวัตต์ ที่ จ.พัทลุง ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง. 4) เรียบร้อยแล้ว
ปัจจุบัน บริษัทมีความพร้อมที่จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าดังกล่าวได้ทันที ซึ่งจะส่งผลให้กลุ่มบริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้นจาก โรงไฟฟ้าชีวมวลที่ จ.สตูล และจ.พัทลุง ในปี 59 ส่วนโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ จ.ปัตตานี ของบริษัท ปัตตานี กรีน จำกัด ปัจจุบันอยู่ระหว่างขั้นตอนการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)
"แผนเดิมที่เคยบอกว่า 5 ปี ข้างหน้าจะมีกำลังการผลิต 150 เมกะวัตต์ก็จะเร็วขึ้นคือมีกำลังการผลิต 150 เมกะวัตต์ภายใน 3 ปีข้างหน้าหรือเร็วขึ้นกว่าแผนเดิมถึง 2 ปี "นายเชิดศักดิ์ กล่าว
นายเชิดศักดิ์ กล่าวว่า โรงไฟฟ้าที่พัทลุงจะเริ่มก่อสร้างในไตรมาส 1 ปีนี้ และรับรู้รายได้ในไตรมาส 3 ปีหน้า ส่วนที่สตูล จะเริ่มการก่อสร้างไตรมาส 2 ปีนี้ และรับรู้รายได้ในไตรมาส 4 ปีหน้า ขณะเดียวกันปีนี้บริษัทจะมีโรงไฟฟ้าชีวมวลที่เดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์(COD) เพิ่ม 3 โรงคือที่แม่วงก์ จ.นครสวรรค์ , ที่มหาชัย จ.สมุทรสาคร และที่ทุ่งสัง จ.นครศรีธรรมราช ดังนั้นจะส่งผลให้ในปี 58 มีกำลังการผลิตเท่ากับ 40 เมกะวัตต์
นอกจากนี้บริษัทกำลังศึกษาและพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าหลายแห่งในภาคใต้ รวมถึงศึกษาโครงการเพื่อเข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันมีโครงการที่อยู่ในขั้นตอนการศึกษาเข้าซื้อกิจการประมาณ 5 โครงการ และยังอยู่ระหว่างการศึกษาการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ ซึ่งเป็นไปตามแผนการดำเนินธุรกิจที่บริษัทได้ตั้งเป้าหมายไว้คือเข้าซื้อกิจการที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานทั้งในและต่างประเทศ
ทั้งนี้ บริษัทมีความมั่นใจว่าธุรกิจมีแนวโน้มที่จะเติบโตแบบก้าวกระโดด และหุ้นของ TPCH มีความคุ้มค่าแก่การลงทุนด้วยโดยมีปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ แผนธุรกิจที่ชัดเจนในการที่จะเพิ่มกำลังการผลิตจาก 10 เมกะวัตต์ เป็น 150 เมกะวัตต์ ภายใน 3 ปี และการสนับสนุนจากรัฐบาลโดยกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบใหม่เป็นระบบ Feed in Tariff (FiT) ขณะที่บริษัทยังตั้งเป้าหมายที่จะมีโรงไฟฟ้าชีวมวลให้ครอบคลุมพื้นที่ 14 จังหวัดของภาคใต้ด้วย
TPCH ประกอบธุรกิจหลักโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ที่ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนประเภทต่างๆ โดยปัจจุบันถือหุ้นในโรงไฟฟ้าชีวมวล 7 โครงการ โดยแบ่งเป็น 2 เฟส เฟส 1 มี 4 โครงการ กำลังการผลิตรวม 40 เมกะวัตต์ และเฟสที่ 2 เป็นโครงการในอนาคตมี 3 โครงการ กำลังการผลิตรวม 60 เมกะวัตต์ ซึ่งทั้งสองพัทลุง กรีน เพาเวอร์ และ สตูล กรีน เพาเวอร์ อยู่ในส่วนของโครงการเฟสที่ 2