เมื่อปลายปีที่แล้ว คณะกรรมการของ NCL อนุมัติให้เข้าซื้อหุ้น 22.22% ในบริษัท ทรานส์ออฟชอร์ โลจิสติกส์ จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจให้บริการจัดการระบบโลจิสติกส์ (Logistics Provider) โดยจดทะเบียนจัดตั้งอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดรวมถึงเพื่อให้ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและความรู้ต่าง ๆ ในการจัดการขนส่ง ทางด้านระบบโลจิสติกส์ในกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับท่อขุดเจาะน้ำมันดิบ อีกทั้งเป็นการเพิ่มเครือข่ายพันธมิตรที่มีศักยภาพทางด้านการให้บริการในธุรกิจการจัดการระบบโลจิสติกส์ (Logistics Provider) และการให้บริการจัดการระบบโลจิสติกส์ เพื่อเสริมสร้างการเติบโตและรองรับการขยายตลาดสู่กลุ่มประเทศอาเซียน
นายกิตติ พัวถาวรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร NCL เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้าหมายกำไร-รายได้ปี 58 เติบโตไม่น้อยกว่า 30% โดยมีสัดส่วนรายได้มาจากบริษัท ทรานส์ออฟชอร์ โลจิสติกส์ จำกัด ที่บริษัทได้เข้าไปถือหุ้น 22% และการจัดตั้งบริษัทย่อยในประเทศสิงคโปร์ คาดว่ารายได้ระหว่างประเทศจะเติบโตได้ราว 20% ขณะที่ในประเทศจะโตไม่ต่ำกว่า 10%
"ปีนี้เราถือว่าเป็นการก้าวสู่ธุรกิจโลจิสติกส์ ที่เป็นอินเตอร์เนชั่นแนลมากขึ้น โดยที่ผ่านมาก็มีการเข้าไปตั้งบริษัทย่อย หรือเรียกว่า NCL สิงคโปร์ และการเข้าซื้อหุ้นของบริษัท ทรานส์ออฟชอร์ ส่งผลให้เรามีการเติบโตที่ดีขึ้น ปัจจุบันสัดส่วนรายได้ของบริษัทจะมาจากการให้บริการโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ 90% ภายในประเทศ 10% ซึ่งในปีนี้บริษัทจะเพิ่มสัดส่วนภายในประเทศเป็น 20% ด้วยการขยายหัวรถลาก น่าจะมีการซื้อเข้ามาเพิ่มประมาณ 50 คัน เป็นไปตามแผนลงทุนจากการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์"นายกิตติ กล่าว
ในปีนี้บริษัทยังได้ร่วมกับการท่าเรือแห่งประเทศไทย(กทท.)มีแผนเปิดตัวบริการโลจิสติกส์ของท่าเรือระนองเพื่อส่งสินค้าไปยังเมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า ให้เกิดความสะดวกขึ้น และมีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น หากประสบความสำเร็จจะทำให้บริษัทมีรายได้และกำไรเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ คาดว่าจะมีรายได้เข้ามาราว 800 ล้านบาทต่อปี เนื่องจากการขนส่งทางเรือจากระนองไปยังย่างกุ้งจะใช้เวลาเพียง 5 วันเท่านั้น จากเดิมที่ขนส่งจากท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือกรุงเทพต้องไปอ้อมไปทางประเทศสิงคโปร์ ซึ่งใช้เวลาขนส่ง 14-20 วัน โดยขณะนี้มีลูกค้ากว่า 30 รายเข้ามาติดต่อเพื่อใช้บริการ
นอกจากนี้ บริษัทยังศึกษาแผนขยายธุรกิจโลจิสติกส์ในเมืองดูไบ หลังจากประความสำเร็จในสิงคโปร์แล้ว โดยเห็นว่าดูไบเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ที่เชื่อมต่อระหว่างยุโรปและเอเชีย น่าจะเห็นความชัดเจนในปีหน้า ประกอบกับ ในอนาคตจะขยายบริการให้ครอบคลุมทั่วทั้งอาเซียนทั้ง อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม
นายกิตติ มองภาพรวมอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ปีนี้ว่า การแข่งขันที่รุนแรงมีน้อยลง เมื่อเทียบกับคู่แข่งระดับทั่วโลก จากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ส่งผลต่อการเลิกจ้างแรงงานคนจำนวนมาก ขณะที่บริษัทเองถือว่ามีศักยภาพที่ดีอยู่ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่เป็นกังวลจะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเฉพาะหนี้ภาคครัวเรือนที่ยังสูงออาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในทุกระดับ สะท้อนถึงการเติบโตของประเทศ และความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่จะถดถอยตามไปด้วย