"เรามองการเติบโตของเศรษฐกิจน่าจะขยายตัวได้ 3.5% สินเชื่อโต 8-10% และเงินฝากโต 8-10% เช่นกัน โดยลูกค้ารายใหญ่ยังให้ความสำคัญต่อการเพิ่มประสิทธิภาพ สินเชื่อบุคคล ก็มีการเปลี่ยนจากการใช้ธุรกรรมแบบดั่งเดิมเป็นระบบโมบายแบงค์กิ้งมากขึ้น เพื่อให้เกิดความสะดวก รวดเร็วแก่ลูกค้า ขณะที่ภาพการปล่อยสินเชื่อมองว่าทำได้ง่ายขึ้น ตามเศรษฐกิจที่มีการเติบโต"นายบุญทักษ์ กล่าว
นายบุญทักษ์ กล่าวว่า ธนาคารจะยังให้ความสำคัญกับกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอี ซึ่งจะเน้นการเป็นที่ปรึกษาด้านการเงินมากขึ้น ,ยกระดับช่องทางการให้บริการเอสเอ็มอีทั่วประเทศ, ปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับเอสเอ็มอีมากขึ้นเพื่ออัพเกรดความสามารถในการแข่งขัน โดยเชื่อว่าธนาคารจะเป็นธนาคารที่ดีที่สุดทั้งเรื่องของไฟแนนซ์ เงินทุน และธุรกรรมทางการเงิน คาดว่ารายได้จากเอสเอ็มอี น่าจะโตได้ 10-15% และมีรายได้จากค่าธรรมเนียมที่เพิ่มมากขึ้น โดยมองอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม,รับเหมาก่อสร้าง
ส่วนสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ ธนาคารยังคงเน้นการเป็นที่หนึ่งด้านธุรกรรมทางการเงิน โดยตั้งเป้าขยายฐานลูกค้าเพิ่มเป็น 40,000 บัญชี ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียม คาดว่าน่าจะโต 20-30% ซึ่งปีนี้จะมีการอัพเกรดเวอร์ชั่น Business CLICK เพื่อรองรับการทำธุรกรรมของลูกค้าแบบครบวงจร และในช่วยปลายปีนี้จะเปิดตัวแอพพลิเคชั่นใหม่เพิ่มเติมอีก มองว่าจะช่วยส่งเสริมศักยภาพของธนาคารให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น อีกทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และการบริการ ธนาคารก็มีการดูแลเรื่องของเทรดไฟแนนท์ให้ดียิ่งขึ้นไปอีกในปีนี้
ขณะที่อุตสาหกรรมเป้าหมายธนาคาร จะอยู่ในกลุ่มธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์จากการลงทุนภาครัฐ การขยายตัวของหัวเมืองใหญ่ รวมไปถึงการค้าชายแดนที่ปัจจุบันมีสัดส่วนมากกว่าการส่งออกไปยังยุโรป
สำหรับสินเชื่อกลุ่มลูกค้ารายย่อย ธนาคารตั้งเป้าขยายฐานลูกค้าในปีนี้กว่า 1 ล้านบัญชี โดยเปลี่ยนการให้บริการของธนาคารแบบดั้งเดิมเป็นแบบดิจิตอลมากขึ้น รวมถึงออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า ทั้งในส่วนผลิตภัณฑ์การออม เงินฝากประจำ กองทุนรวม Bancassurance ผลิตภัณฑ์สินเชื่อ สินเชื่อบ้าน สินเชื่อบุคคล หรือผลิตภัณฑ์เพื่อการใช้จ่ายบัตรเครดิต
นายบุญทักษ์ กล่าวว่า ในส่วนของ NPL ธนาคารคาดว่าน่าจะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปี 57 ที่อยู่ที่ 2.85% จากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ ขณะที่การตั้งเงินสำรองหนี้สงสัยจะสูญยังคงอยู่ในระดับปกติที่ 0.8-0.9% ด้านส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) น่าจะโตได้ราว 3.12% จากเดิมที่อยู่ที่ 2.98% ขณะที่มองภาพเศรษฐกิจปีนี้ยังขยายตัวได้ระดับ 3.5% แต่ยังมีความเป็นห่วงด้านหนี้ครัวเรือน ที่ยังมีแนวโน้มสูงขึ้น
สำหรับความผันผวนของค่าเงินบาทปีนี้มองว่ายังมีสูงมาก จากปัจจัยที่มาจากทางสหรัฐฯที่ยกเลิกมาตรการผ่อนคลายเชิงบปริมาณ(QE) และในช่วงกลางปีนี้ก็จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ก็มีแนวโน้มที่จะดำเนินมาตรการ QE เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเห็นว่าผู้ประกอบการควรทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของบริษัทน้อยที่สุด