นายพัชร สมะลาภา รองกรรมการผู้จัดการ KBANK กล่าวว่า ธนคารตั้งเป้ายอดสินเชื่อของสายงานกลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี)ในปี 58 ขยายตัว 7.7% จากปี 57 หรือมาอยู่ที่ 6.12 แสนล้านบาท จากสิ้นปี 57 ที่ 5.68 แสนล้านบาท โดยตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่ในปีนี้ 2.8 แสนล้านบาท
"ธนาคารจะมีการขยายฐานลูกค้าใหม่ที่มีศักยภาพ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ดียิ่งขึ้น โดยการลดระยะเวลาในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ พร้อมการกระตุ้นพนักงานให้ได้ใช้เวลาในการเยี่ยมลูกค้าให้มากขึ้น เพื่อเป็นการดูแลลูกค้าปัจจุบันและลูกค้าใหม่ให้ดียิ่งขึ้น"นายพัชร กล่าว
ขณะที่ระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของกลุ่มสายงานเอสเอ็มอีในปีนี้ ธนาคารจะรักษาระดับให้สดลงมาอยู่ที่ 2.39% จากสิ้นปีก่อนที่อยู่ที่ระดับ 2.56% โดยธนาคารจะพยายามช่วยเหลือลูกค้าให้สามารถผ่านพ้นวิกฤติต่างๆไปได้ด้วยดี
ทั้งนี้ ธนาคารตั้งเป้ารายได้รวมของกลุ่มสายงานเอ็สเอ็มอีในปี 58 เติบโต 9% จากปีก่อน หรืออยู่ที่ 4.33 หมื่นล้านบาท จากปี 57 ที่ 3.96 หมื่นล้านบาท
นายพัชร กล่าวว่า ธนาคารมีความเป็นห่วงกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีที่ต้องการความช่วยเหลือและมีแนวโน้มจะกลายเป็นกลุ่มที่เป็นหนี้เสียในปี 58 คือ กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว หลังจากได้รับผลกระทบจากการที่รัสเซียลดค่าเงินรูเบิล ทำให้ความสามารถในการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวรัสเซียลดลงมาก และจำนวนนักท่องเที่ยวรัสเซียก็ลดลงด้วย ซึ่งนักท่องเที่ยวรัสเซียปกติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยค่อนข้างมาก
นอกจากนี้แล้ว กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับผลผลิตทางการเกษตรก็เป็นอีกกลุ่มที่มีความเสี่ยง เนื่องจากราคาผลผลิตทางการเกษตรยังตกต่ำ
ดังนั้น ธนาคารจะมีมาตรการในการช่วยเหลือลูกค้าออกมา อย่างเช่น การใช้มาตรการพักชำระเงินต้น ขยายเวลาการผ่อนชำระ และการเลือกผ่อนตามรายได้ที่เข้ามา เป็นต้น เพื่อเป็นการช่วยเหลือให้ลูกค้าผ่านพ้นวิกฤติต่างๆไปได้ด้วยดี
อย่างไรก็ตาม สภาพเศรษฐกิจในปี 58 นั้นมองว่าคงยังไม่ฟื้นตัวกลับมาสดใสจากปีก่อนได้มากนัก โดยการบริโภคยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ดังนั้น คงต้องพึ่งพามาตรการและการใช้จ่ายของภาครัฐเข้ามากระตุ้นค่อนข้างมาก อีกทั้งราคาน้ำมันที่ลดลงต่อเนื่องจะส่งผลดีต่อการบริโภคเพียงเล็กน้อย เพราะหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง ทำให้ประชาชนต้องกันเงินส่วนหนึ่งไปชำระหนี้ ทำให้การจับจ่ายใช้สอยทำได้ไม่เต็มที่
"การบริโภคที่ยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ มันก็ไปส่งผลกระทบไปถึงลูกค้าผู้ประกอบการทำให้รายได้ของเขาแย่ลง หรือไม่เติบโตขึ้น ในขณะที่รายจ่ายก็ยังเท่าเดิมและไม่ลดลง ทำให้ธุรกิจไม่เดิน หนี้ครัวเรือนที่ยังไม่ลดลงก็ส่งผลให้คนใช้จ่ายได้อย่างไม่เต็มที่ เพราะต้องเอาเงินมาจ่ายหนี้ มองๆดูแล้วปีนี้ก็เป็นที่การทำธุรกิจยากมาก เพราะแรงซื้อไม่มาก"นายพัชร กล่าว
สำหรับผลกระทบจากการออก พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการค้ำประกัน ธนาคารยอมรับว่าการออก พ.ร.บ.ดังกล่าวจะส่งผลกระทบทั้ง 3 ฝ่าย คือ ผู้กู้ ผู้ค้ำ และผู้ปล่อยกู้ โดยฝ่ายผู้ปล่อยกู้หรือสถาบันการเงินต่างๆ คงมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อยากขึ้น ผู้กู้จะมีโอกาสได้น้อยลงหรือมีความจำเป็นต้องเพิ่มหลักประกันมากขึ้น ขณะที่ผู้ค้ำจะได้ประโยชน์ เนื่องจากไม่ต้องรับภาระหนี้เท่ากับผู้กู้
"เวลาในการพิจารณาอาจนานขึ้น หลักประกันมากขึ้น ปล่อยยากมากขึ้นแน่นอน ส่วนจะกระทบตั้งแต่ไตรมาสแรกเลยหรือไม่ ยอมรับว่ากระทบไตรมาสแรกและตลอดไปแน่นอน"นายพัชร กล่าว
ด้านผลการดำเนินงานในปี 57 ของกลุ่มสายงานลูกค้าเอสเอ็มอีของธนาคารมียอดสินเชื่อรวมที่ 5.68 แสนล้านบาท เติบโต 9.7% จากปี 56 โดยเป็นยอดสินเชื่อเอสเอ็มอีต่างจังหวัดมากที่สุดที่ 3.6 แสนล้านบาท ขยายตัวจากปีก่อนถึง 20% ขณะที่ NPL ในปี 57 อยู่ที่ 2.56% ลดลงจากสิ้นปี 56 ที่ระดับ 2.82% ขณะที่รายได้รวมของปี 57 เติบโต 13% จากปีก่อน หรืออยู่ที่ 3.96 หมื่นล้านบาท