ทั้งนี้ บริษัทใหม่จะมีทุนจดทะเบียน 15,285 ล้านบาท ส่วนหนี้สินรวมกัน 4 หมื่นล้านบาท และในปี 58 รายได้มาจากสองบริษัทรวมกันที่ 11,657 ล้านบาท โดยมาจาก BECL ราว 8,683 ล้านบาท เติบโต 1.3% จากปีก่อน และ BMCL ราว 2,974 ล้านบาท เติบโต 10% ส่วนงบปี 57 จะใช้งบเสมือนที่รายได้รวมกันที่ 11,272 ล้านบาท ทำให้คาดว่าบริษัทใหม่ในปี 58 จะมีกำไรสุทธิและจ่ายเงินปันผลได้ตามนโยบาย 40% ของกำไรสุทธิ
"BECL และ BMCL ได้ศึกษาร่วมกันมาระยะหนึ่งก็พบว่าเพิ่มศักยภาพรวมข้อดีที่ต่างคนต่างมารดาทำให้ใหญ่ขึ้นแข็งแรงขึ้น เราพบว่าการควบรวมเป็นคำตอบ เรารวมกัน 1+1 มาเป็น 2 ไม่ใช่ใครซื้อใคร เอาทรัพย์สินมารวมกัน หนี้สินมารวมกัน ศักยภาพก็เอามารวมกัน"นางพเยาว์ กล่าว
นางสาวพรพิมล เชิดชูชัย รองกรรมการผู้จัดการ BMCL กล่าวว่า บริษัทคาดว่าในไตรมาส 4/57 จะมีขาดทุนราว 120 ล้านบาท และในไตรมาส 1-2 ปี 58 คาดมีผลขาดทุนราว 150 ล้านบาท และควบรวมกิจการแล้วเสร็จในไตรมาส 3/58 จากนั้นบริษัทใหม่ก็จะมีกำไร ส่วนขาดทุนสะสมที่ยังเหลืออยู่ของ BMCL จำนวน 120 ล้านบาทก็จะนำกำไรจากผลประกอบการมาล้างขาดทุนสะสมทั้งหมด
นอกจากนี้ การควบรวมครั้งนี้จะช่วยให้ต้นทุนการเงินของ BMCL ลดลง โดยปัจจุบันต้นทุนอยู่ที่ 6-7% และมีหนี้เหลืออยู่ราว 1 หมื่นล้านบาท ครบกำหนดคืนปี 65 ส่วนต้นทุนการเงินของ BECL อยู่ที่ 4%
ด้านนายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ BMCL กล่าวว่า บริษัทรอความชัดเจนจากรัฐบาลว่าต้องการเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายในลักษณะใด ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลก็มีข้อมูลต้นทุนสายสีม่วงและสายสีน้ำเงินจะเข้าคณะรัฐมนตรีในไตรมาสแรกปีนี้ จากนั้นจะเข้ากระบวนการเจรจาและคาดว่าจะได้ข้อสรุปในไตรมาส 2/58
ที่ผ่านมา ครม.ได้อนุมัติให้ BMCL เดินรถต่อเนื่อง 1 สถานี บางซื่อ-เตาปูน และเมื่อบริษัทได้ให้ข้อมูลว่าการเดินรถ 1 สถานีมีต้นทุนสูงควรจะเดินรถส่วนต่อขยายที่มีกว่า 20 สถานีจะทำให้ต้นทุนการเดินรถต่ำลง