นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมการ ตลท.เปิดเผยว่า ตลท.ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.), สมาคมบริษัทตัดการลงทุน, สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย,สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย, สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัท และมูลนิธิเพื่อคนไทย ร่วมเป็นหนึ่งใน Sustainable Stock Exchange (SSE) ตามกรอบการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ
ทั้งนี้ ตลท.จะเป็นตลาดทุนแห่งแรกในภูมิภาคอาเซียนที่มีการดำเนินการอย่างจริงจังในการส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนเห็นความสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยไม่คำนึงถึงการดำเนินธุรกิจเพิ่งอย่างเดียว แต่จะคำนึงถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล(ESG) เนื่องด้วยปัจจัยเหล่านี้มีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทจดทะเบียน ทำให้บริษัทมีความสามารถในการแข่งขัน และนำไปสู่งการสร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่ผู้ลงทุนในระยะยาว
ตลท. จะมีการประกาศรายชื่อกลุ่มบริษัทที่มีผลการดำเนินงานด้าน ESG เพื่อให้บริษัทดังกล่าวเป็นที่รู้จักของนักลงทุน และระยะต่อไปจะมีการจัดทำดัชนีความยั่งยืนของประเทศไทย คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีนี้อย่างแน่นอน โดยมาตรฐานและแนวทางในการดำเนินการจะคล้ายกับดัชนีความยั่งยืนของดาวโจนส์
ปัจจุบัน มีบริษัทจดทะเบียนไทยจำนวน 10 บริษัท ที่ติดอันดับอยู่ในดัชนีความยั่งยืนของดาวโจนส์ คือ บมจ.ปูน ซิเมนต์ ไทย (SCC) ,บมจ.ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ (TUF) ,บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา (CPN),บมจ.บ้านปู (BANPU),บมจ.ไมเนอร์ คอร์ปอเรชั่น,บมจ. ปตท (PTT),บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP),บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC),บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) และบมจ.ไทยออยล์ (TOP)