“ยอดขายเราโตขึ้นจากกลุ่มบรรจุภัณฑ์ และการส่งออกที่เติบโต แม้ภาพรวมการส่งออกของไทยไม่ได้ดีนัก แต่ของเรายังไปได้ บรรจุภัณฑ์ยังโตใช้ได้ เพราะเน้นตลาดที่นอกเหนือจากไทย ซึ่งยังมีความต้องการต่อเนื่อง"นายรุ่งโรจน์ กล่าว
ทั้งนี้ สัดส่วนการขายในปีนี้ราว 30% จะมาจากต่างประเทศ ทั้งการส่งออกสินค้าจากไทยและการขายสินค้าจากฐานผลิตในต่างประเทศ ใกล้เคียงกับปีแล้วราว 30% ส่วนที่เหลือ 70% เป็นการขายในประเทศ โดยตลาดต่างประเทศส่วนใหญ่อยู่ในอาเซียนที่มีการใช้บรรจุภัณฑ์มากขึ้น รวมถึงแอฟริกา อินเดีย ตะวันออกกลาง พร้อมทั้งมองหาตลาดใหม่ๆเพิ่มเติม
ขณะที่ตลาดในเมืองไทยยังคงมีการเติบโตในส่วนของธุรกิจบรรจุภัณฑ์ ประกอบกับภาครัฐที่เน้นการลงทุนมากขึ้น ก็เชื่อว่าจะสนับสนุนในตลาดเติบโตได้ เพราะในปีที่ผ่านมาธุรกิจบรรจุภัณฑ์ของเอสซีจี เปเปอร์ ยังเติบโตได้ราว 2-3% ส่วนธุรกิจกระดาษพิมพ์เขียน ติดลบ 10% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากที่มีการใช้เทคโนโลยีในการติดต่อสื่อสารมากขึ้น ทำให้ความต้องการใช้กระดาษลดลง และคาดว่าจะยังคงมีอยู่ต่อเนื่องต่อไปในระยะหนึ่ง
ดังนั้น เอสซีจี เปเปอร์ จึงหันมาสร้างสินค้ามูลค่าเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มของธุรกิจเยื่อและกระดาษ(Fibrous) ที่เดิมจะนำเยื่อกระดาษมาผลิตเป็นกระดาษพิมพ์เขียนโดยอย่างเดียว ก็เริ่มนำเยื่อกระดาษบางส่วนมาใช้ในการผลิตเป็นเยื่อเคมีเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ที่ตลาดยังมีความต้องการอยู่มาก
นอกจากนี้ เอสซีจี เปเปอร์ ก็ยังจะขยายกำลังการผลิตเพิ่มเติมในหลายผลิตภัณฑ์ รวมถึงการเข้าซื้อกิจการในต่างประเทศ ซึ่งมองประเทศที่มีศักยภาพ ได้แก่ เวียดนาม อินโดนีเซีย และพม่า ขณะนี้ก็มีการเจรจาอยู่บ้าง แต่ยังไม่ชัดเจนว่าจะสามารถสรุปได้เมื่อใด
ขณะเดียวกัน ก็ยังมีโครงการลงทุนขยายกำลังการผลิตในธุรกิจกระดาษที่เริ่มตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยมีมูลค่าลงทุนราว 1.4-1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะมีโครงการต่างๆ ที่จะทยอยแล้วเสร็จตามแผน ทั้งในส่วนของกระดาษบรรจุภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ที่เห็นว่ามีการเติบโตสูง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม และสินค้าอุปโภค รวมถึงขยายไปสู่การเป็นผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์เฟล็กซิเบิ้ลแพคเกจจิ้ง (Flexible Packaging) ซึ่งเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตมาจากวัสดุอื่นๆนอกเหนือจากกระดาษ ซึ่งเป็นกลยุทธ์ในการขยายธุรกิจบรรจุภัณฑ์มุ่งสู่การเป็นผู้ผลิตสินค้าและผู้ให้บริการด้านบรรจุภัณฑ์ครบวงจร
ตลอดจนมีการลงทุนในงานวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ รวมถึงการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม(HVA) เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการแข่งขันที่สูง โดยปัจจุบันมีสัดส่วนการผลิตสินค้าในกลุ่มกระดาษที่เป็น HVA เกือบ 40% แล้ว
ปัจจุบัน เอสซีจี เปเปอร์ มีฐานการลงทุนในไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และมาเลเซีย มีกำลังการผลิตรวมธุรกิจกระดาษบรรจุภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์ใหญ่สุดในอาเซียน โดยมีกำลังการผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ 2.3 ล้านตัน/ปี, บรรจุภัณฑ์กว่า 1 ล้านตัน/ปี ,กระดาษพิมพ์เขียน 5.7 แสนตัน/ปี และเยื่อกระดาษ 4.7 แสนตัน/ปี มีสัดส่วนกำไรจากกลุ่มบรรจุภัณฑ์ราว 80% กระดาษพิมพ์เขียน 20%
วันนี้ เอสซีจี เปเปอร์ เปิดสายการผลิตใหม่ คือ สายการผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์แห่งใหม่ที่ จ.ราชบุรี ที่ใช้เงินลงทุนกว่า 5 พันล้านบาท กำลังการผลิต 3.2 แสนตัน/ปี