การวางแนวทางการพัฒนา บจ. ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมได้คำนึงถึงความพร้อมของ บจ. แต่ละรายทั้งในระดับเริ่มต้นที่จะเน้นการปูพื้นฐานความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืนและส่งเสริมการเปิดเผยข้อมูลผ่านรายงานแห่งความยั่งยืน สำหรับ บจ. ที่มีพื้นฐานความรู้ความเข้าใจแล้ว จะเน้นที่การนำความรู้ดังกล่าวไปพัฒนาต่อยอดเป็นกลยุทธ์องค์กรและเน้นการปรับปรุงกระบวนการทำธุรกิจหลักให้คำนึงถึง ESG
ส่วน บจ.ในระดับที่มีศักยภาพที่จะเข้าสู่ตัวชี้วัดความยั่งยืนในระดับสากล ตลท. จะจัดกิจกรรมเตรียมความพร้อมก่อนเข้าร่วมการประเมินความยั่งยืนของ DJSI (Dow Jones Sustainability Indices) ทั้งในระดับ CEO และในระดับปฏิบัติการ การดำเนินงานดังกล่าวข้างต้นสอดคล้องการแนวทางการพัฒนา ตลท. ให้เป็น Sustainable Stock Exchange (SSE) อันเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาความยั่งยืนของตลาดทุน และเป็นการสร้างคุณค่าให้กับตลาดทุน
"ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2555-2557) ตลท. จัดหลักสูตรอบรม บจ. ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างเข้มข้น โดยมี บจ. เข้าร่วมแล้วถึง 427 บริษัท คิดเป็น 70% ของ บจ.ทั้งหมด และมีผู้เข้าร่วมอบรมประมาณ 1,350 คน ในปีนี้จะจัดอบรมให้ความรู้ถึง 9 หลักสูตร และมุ่งเน้นให้ บจ. ที่เข้าร่วมโครงการอบรมมีความรู้ความเข้าใจเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ตลท. ยังเดินหน้าส่งเสริมการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยล่าสุดได้ความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรจัดทำ “Thailand Sustainable Investment" ซึ่งรวบรวมรายชื่อ บจ.ที่ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึง ESG และประชาสัมพันธ์ให้ผู้ลงทุนได้รับทราบข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาลงทุน"นายบดินทร์ กล่าว
นายอนันตชัย ยูรประถม ผู้อำนวยการสถาบันธุรกิจอย่างยั่งยืน ในฐานะวิทยากรโครงการอบรมด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของ ตลท. กล่าวว่า ทิศทางการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมยังคงมุ่งเน้นในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างคุณค่าในระดับองค์กรและสร้างคุณค่าในระดับสังคม
นอกจากนี้ การเรียนรู้เรื่องการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคตจะไม่ใช่ความรู้ในมุมกว้างอีกต่อไป แต่จะเจาะเป็นประเด็นเฉพาะทาง อาทิ การส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมในห่วงโซ่อุปทาน (Responsible Supply Chain Management) การเคารพสิทธิมนุษยชน (Human Rights) การวิเคราะห์ความเสี่ยงและประเด็นสำคัญของความยั่งยืน (Sustainability Risk and Materiality Analysis) และการสื่อสารด้านความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ (Effective CSR Communication)
รวมถึงการประเมินผลการปฏิบัติงานและการจัดการความรู้ (CSR Evaluation and Knowledge Management) ให้สอดคล้องกับแนวทางและมาตรฐานการประเมินในระดับสากล เพื่อแสดงให้ผู้มีส่วนได้เสียรับทราบอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแปลงคุณค่าทางสังคมให้เป็นคุณค่าทางเศรษฐกิจ หรือมูลค่าที่เป็นตัวเงิน