"COD ของธุรกิจไฟฟ้า ถือเป็นไมล์สโตนที่สำคัญของแผนธุรกิจระยะยาวของกลุ่ม KBS คือการพัฒนา Sugar Energy Complex ซึ่งจะแล้วเสร็จในปลายปี 2559"นายทัศน์ กล่าว
นายทัศน์ กล่าวว่า กลุ่ม KBS มีแนวทางในการดำเนินธุรกิจ โดยมีวิสัยทัศน์ที่จะเป็นผู้นำในธุรกิจอ้อย น้ำตาล และ ชีวพลังงาน โดยมีกลยุทธ์หลักในการพัฒนาตามโมเดล Sugar Energy Complex โดยจะมีกำลังการผลิตน้ำตาล 35,000 ตันอ้อย/วัน โรงไฟฟ้า 35 เมกะวัตต์ และโรงงานผลิตเอทานอลขนาด 200,000 ลิตร/วัน รองรับการผลิตอ้อย 4 ล้านตัน/ปี ซึ่งจะทำให้ได้ Economies of scale ทีเหมาะสม มีประสิทธิภาพการผลิตสูง และได้เปรียบในเชิงการบริหารต้นทุน และศักยภาพการทำกำไร
โดยกลุ่ม KBS ได้ริเริ่มโครงการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าชีวมวลขนาด 35 เมกะวัตต์ ตั้งแต่ปี 55 ภายใต้การดำเนินการของ บริษัท ผลิตไฟฟ้าครบุรี (KPP) ซึ่งเป็นบริษัทลูก มีงบประมาณก่อสร้าง 1,650 ล้านบาท ดำเนินการก่อสร้างระหว่างปี 55-57 และได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลทั้งหมดเป็นเวลา 8 ปี และลดลงกึ่งหนึ่งต่อจากนั้นอีก 5 ปี
ขณะที่ได้เข้าทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับ กฟผ. เป็นสัญญา Firm 22 เมกะวัตต์ และเริ่มจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กฟผ. เชิงพาณิชย์เป็นครั้งแรก แล้วเมื่อวันที่ 2 มกราคม 58 โดยคาดว่าโครงการโรงไฟฟ้าจะมีผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) 19% ซึ่งการลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าจะมีรายได้และกำไรที่ค่อนข้างมั่นคง จะช่วยกระจายความเสี่ยงของกลุ่มบริษัทซึ่งเดิม รายได้และกำไรค่อนข้างผันผวนตามภาวะราคาน้ำตาลในตลาดโลกเป็นหลัก
โรงไฟฟ้าชีวมวลนับเป็นกลไกสำคัญของ Sugar Energy Complex ซึ่งเป็นกลยุทธ์หลักของกลุ่ม KBS ที่ต้องการบริหารจัดการการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาลและการประหยัดพลังงาน และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่อ้อย ผลิตภัณฑ์น้ำตาล และผลพลอยได้ ให้สูงที่สุด