สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ประจำสัปดาห์ (19 – 23 มกราคม 2558) ปริมาณการซื้อขายตราสารหนี้ มีมูลค่ารวม 387,233 ล้านบาท หรือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณวันละ 77,447 ล้านบาท ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้าประมาณ 6.85% ทั้งนี้เมื่อแยกตามประเภทของตราสารแล้วจะพบว่ากว่า 56% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด หรือประมาณ 217,973 ล้านบาท เป็นการซื้อขายในตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (State Agency Bond) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นตราสารที่มีอายุคงเหลือค่อนข้างน้อย (ไม่เกิน 6 เดือน) ขณะที่พันธบัตรรัฐบาลที่ออกโดยกระทรวงการคลัง (Government Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 128,538 ล้านบาท และหุ้นกู้ที่ออกโดยภาคเอกชน (Corporate Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 10,235 ล้านบาท หรือคิดเป็น 33% และ 3% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ตามลำดับ
สำหรับพันธบัตรรัฐบาล ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกคือรุ่น LB196A (อายุ 4.4 ปี) LB25DA (อายุ 10.9 ปี) และ LB21DA (อายุ 6.9 ปี) โดยมีมูลค่าการซื้อขายในแต่ละรุ่นเท่ากับ 27,536 ล้านบาท 20,439 ล้านบาท และ 19,601 ล้านบาท ตามลำดับ
ขณะที่หุ้นกู้ภาคเอกชน ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ หุ้นกู้ของบริษัท ควอลิตี้ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) รุ่น QH168A (A-) มูลค่าการซื้อขาย 451 ล้านบาท หุ้นกู้ของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) รุ่น CPF218B (AA-) มูลค่าการซื้อขาย 437 ล้านบาท และหุ้นกู้ของบริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด รุ่น MPSC20OB (A+) มูลค่าการซื้อขาย 396 ล้านบาท
ราคา (Price) ของพันธบัตรรัฐบาลอายุตั้งแต่ 10-15 ปี ปรับตัวลดลง หรือผู้ซื้อจะได้ผลตอบแทน (Yield) สูงขึ้น ประมาณ 0.03% - 0.07% หากเข้าซื้อพันธบัตรในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ภายหลังผลการประมูลพันธบัตรอายุ 10 ปี ได้รับความสนใจจากนักลงทุนน้อยกว่าวงเงินประมูล โดยมีค่า Bid Coverage Ratio = 0.89 ส่งผลให้ผลตอบแทนพันธบัตรรุ่นใกล้เคียงปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ประกาศมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณหรือ QE เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 58 ที่ผ่านมา โดยจะเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลและสินทรัพย์อื่นๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ECB ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.05% และตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากข้ามคืนสำหรับธนาคารพาณิชย์ที่ 0.20% และตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ข้ามคืนที่ 0.30%
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (19 – 23 ม.ค. 58) แม้เม็ดเงินจากนักลงทุนต่างชาติจะไหลออกจากตราสารหนี้ระยะยาว (อายุคงเหลือ > 1 ปี) ประมาณ 2,610 ล้านบาท แต่ยังไหลเข้าในตราสารหนี้ระยะสั้น (อายุน้อยกว่า 1 ปี) ประมาณ 2,991 ล้านบาท