ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหวังว่าบริษัทจะยังคงรักษาความได้เปรียบในการแข่งขันในโครงการ EPC ภายในประเทศเอาไว้ได้ อัตราส่วนกำไรของบริษัทคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 6%-8% อันดับเครดิตอาจปรับขึ้นหากผลการดำเนินงานของบริษัทสูงกว่าประมาณการ
อย่างไรก็ตาม การปรับเพิ่มมีข้อจำกัดจากแผนการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ซึ่งจะกดดันสถานะทางการเงินของบริษัท ในขณะเดียวกัน อันเครดิตอาจปรับลดลงหากการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ส่งผลให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนสูงกว่าเกณฑ์อันดับเครดิตในปัจจุบัน ทั้งนี้ หากบริษัทมีการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ การประเมินอันดับเครดิตและหรือแนวโน้มอันดับเครดิตจะพิจารณาความเสี่ยงจากการดำเนินงาน คุณภาพโครงการ และโครงสร้างการเงินของโครงการด้วย
บริษัทโตโย-ไทย คอร์ปอเรชั่นเป็นผู้รับเหมาประเภท EPC ในประเทศไทยซึ่งก่อตั้งในปี 2528 จากการร่วมทุนระหว่าง บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และ Toyo Engineering Corporation (TEC) ซึ่งเป็นบริษัท EPC ในประเทศญี่ปุ่น ในสัดส่วน 51% และ 49% ตามลำดับ ณ เดือนสิงหาคม 2557 TEC มีสัดส่วนการถือหุ้น 22.3% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของบริษัท โดยมี Chiyoda Corporation จากประเทศญี่ปุ่นถือหุ้นในสัดส่วน 6% และ บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ เหลือสัดส่วนการถือหุ้น 3.3% ลูกค้าหลักที่บริษัทให้บริการประกอบด้วยลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ โรงกลั่นน้ำมันและก๊าซ และพลังงาน
บริษัทมีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง ชื่อเสียงซึ่งเป็นที่ยอมรับในผลงานที่มีคุณภาพมาจากการมีลูกค้าจำนวนมากที่มีชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือเป็นสำคัญ ผลงานในอดีตที่เป็นที่ยอมรับ ประกอบกับความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์น่าจะช่วยให้บริษัทรักษาความเป็นผู้นำในตลาดรับเหมาก่อสร้างประเภท EPC ต่อไปได้ในระยะปานกลาง สถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งของบริษัทส่วนหนึ่งมาจากความได้เปรียบด้านต้นทุน โดยต้นทุนแรงงานวิศวกรภายในประเทศของบริษัทนั้นต่ำกว่าคู่แข่งซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการจากต่างประเทศ
ณ สิ้นเดือนกันยายน 2557 บริษัทมีมูลค่างานในมือที่ยังไม่ส่งมอบจำนวน 2.7 หมื่นล้านบาท โดยมูลค่างานดังกล่าวจะทยอยรับรู้เป็นรายได้คิดเป็น 70% ของรายได้ในอนาคตของบริษัทในปี 2558 40% ในปี 2559 และ 25% ในปี 2560 ตามสมมติฐานของทริสเรทติ้ง บริษัทลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าเพื่อให้เกิดรายได้ประจำ โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2557 บริษัทลงทุนมูลค่า 673 ล้านบาทเพื่อซื้อหุ้นบุริมสิทธิของ บริษัท นวนครการไฟฟ้า จำกัด คิดเป็นสัดส่วนการถือหุ้น 42% ซึ่ง บริษัทนวนครการไฟฟ้าดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมขนาด 110 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ บริษัทยังลงทุนและก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมขนาด 120 เมกะวัตต์ในเขต Ahlone เมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า ชื่อโครงการ Ahlone มูลค่าโครงการ 5,500 ล้านบาทด้วย โดยบริษัทถือหุ้น 60% ในโครงการดังกล่าว การขยายงานรับเหมาก่อสร้างในต่างประเทศส่งผลให้ฐานรายได้ของบริษัทเพิ่มขึ้นมากกว่า 15,000 ล้านบาทในปี 2556 บริษัทยังมีแผนจะลงทุนและก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 1,280 เมกะวัตต์มูลค่าประมาณ 80,000-85,000 ล้านบาทในอนาคตด้วย
สถานะทางการเงินของบริษัทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 ยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับประมาณการพื้นฐานของทริสเรทติ้ง ยกเว้นอัตราการทำกำไรของบริษัทที่ต่ำกว่าประมาณการ บริษัทมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 อยู่ที่ 3.7% ลดลงจาก 5.3% ในปี 2556 ภายใต้สมมติฐานพื้นฐานซึ่งไม่รวมโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 1,280 เมกะวัตต์ ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้รวมของบริษัทอย่างน้อยจะอยู่ที่ระดับ 15,000-18,000 ล้านบาทต่อปีในช่วงระหว่างปี 2558-2560 และยังคาดว่าอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทจะปรับตัวขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 6%-8% ในช่วงปี 2558-2560 อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากรายได้จากโครงการ Ahlone ในขณะที่เงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทน่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 600-700 ล้านบาทต่อปี
ในช่วงปี 2558-2560 ประมาณการพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะรักษาระดับอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อส่วนของผู้ถือหุ้นให้ต่ำกว่า 1 เท่า สภาพคล่องของบริษัทเมื่อวัดจากอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมและอัตราส่วนกำไร (ก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย) ต่อดอกเบี้ยจ่ายแล้วคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากโครงการ Ahlone ในขณะที่แผนลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 1,280 เมกะวัตต์จะส่งผลให้โครงสร้างเงินทุนของบริษัทเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ในช่วงปี 2558-2560 อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมคาดว่าจะอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 20% และอัตราส่วนกำไรต่อดอกเบี้ยจ่ายจะอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 4 เท่าหรือมากกว่า