"หม่อมอุ๋ย"เผย ITD-ROJNA จะร่วมพัฒนาโครงการทวายเฟสแรก 1,700ล้านเหรียญฯ

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday January 30, 2015 17:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมระดับสูงระหว่างไทย-เมียนมาร์เพื่อการพัฒนาที่ครอบคลุมในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้องในวันนี้ว่า ผู้ที่ประมูลได้เป็นผู้ดำเนินโครงการะยะแรก คือกลุ่มร่วมทุน ประกอบด้วย บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) บมจ.สวนอุตสาหกรรมโรจนะ(ROJNA) บมจ.ผลิตไฟฟ้า (EGCO) และบริษัท แอล เอ็น จี พลัส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
"การพัฒนาโครงการระยะแรกเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาโครงการทวายอย่างจริงจัง"ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว

สำหรับโครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวายระยะแรก(Initial Phase)ประกอบด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมบนพื้นที่ 27 ตร.กม., ถนนเชื่อมต่อจากโครงการทวายมายังบ้านพุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรี, สถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) รวมทั้งระบบโทรคมนาคม, โรงไฟฟ้า, ท่าเรือขนาดเล็ก และ อ่างเก็บน้ำ รวมมูลค่าโครงการ 1,700 ล้านเหรียญสหรัฐ

โครงการในระยะแรกจะเริ่มดำเนินการทันทีหลังจากที่กลุ่มร่วมทุนดังกล่าว ซึ่งมี ITD และROJNA เป็นแกนนำได้ลงนามในสัญญาสัมปทานภายในเดือน มี.ค.58 อายุสัมปทานราว 50 ปี และต่ออายุได้อีก 25 ปี ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจารายละเอียดด้านต่างๆ รวมไปถึงส่วนที่ ITD ได้เคยลงทุนในโครงการทวายไปแล้วก่อนหน้านี้ โดยอาจจะให้พื้นที่พัฒนาเพิ่มเติมเป็น 34 ตร.กม.หรืออาจจะเป็นลักษณะหักกลบลบหนี้กันไป

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การสร้างเส้นทางเชื่อมโยงต่อโครงการทวายมายังบ้านพุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรี ระยะทาง 138 กม. จะใช้เงินลงทุน 3,900 ล้านบาท ฝ่ายไทยโดยสำนักงานความร่วมมือเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน(NEDA)จะเป็นผู้ให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) แก่ทางการเมียนมาร์ ระยะเวลาผ่อนชำระ 20-30 ปี เพื่อให้โครงการทวายพัฒนาได้เร็วที่สุด และจะทำให้เกิดการจ้างงานในเมียนมาร์

"ความร่วมมือพัฒนาโครงการทวาย ในที่สุดจะเป็นระดับประวัติศาสตร์ของไทยและเมียนมาร์ ร่วมกันให้เกิดอุตสาหกรรมในเมียนมาร์อย่างจริงจัง...เซ็นสัญญาแล้วเริ่มทำโดยเร็ว เพราะทางการพม่าต้องการอย่างนั้น" ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว

นอกจากนี้ ในการประชุมครั้งนี้ได้มีการหารือสามฝ่ายระหว้างฝ่ายเมียนมาร์-ไทย และญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการโดยญี่ปุ่นแสดงความจำนงในการสนับสนุนโครงการดังกล่าว พร้อมทั้งยื่นข้อเสนอในการให้ความช่วยเหลือทั้งทางด้านเทคนิคและการเงิน รวมทั้งญี่ปุ่นจะเข้ามาร่วมทุนในบริษัทร่วมทุน ทวาย เอสอีแซด ดีเวลล็อปเม้นท์ จำกัด (SPV) ซึ่งปัจจุบันมีไทยและเมียนมาร์ถือหุ้นฝ่ายละ 50% หากญี่ปุ่นเข้ามาร่วมทุนจะแบ่งถือหุ้น 3 ฝ่ายเท่าๆกัน

ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวอีกว่า ส่วนพื้นที่ของโครงการทวายที่เหลือจากเฟสแรก มีพื้นที่ทั้งหมด 196 ตร.กม.จะนำมาจัดทำแผนมาสเตอร์แพลน(Full Phase)ซึ่งจะดำเนินการคล้ายกับการจัดตั้งโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดของไทย โดยจะมีทั้งโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ท่าเรือขนาดใหญ่ ถนนที่เชื่อมโยงภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษ และกิจกรรมด้านอื่นๆ คาดว่าจะจัดทำแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้

อนึ่ง การประชุมคณะกรรมการร่วมระดับสูงระหว่างไทย-เมียนมาร์เพื่อการพัฒนาที่ครอบคลุมในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้องในวันนี้มีรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายไทย และนาย U Nyan Tun รองประธานาธิบดีสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ร่วมเป็นประธาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ