ส่วนแผนการซื้อธุรกิจพลังงานเพิ่มเติมนั้นยังอยู่ระหว่างดำเนินการ ขณะนี้เจรจาหลายแห่งทั้งกิจการในประเทศและต่างประเทศ คาดว่าจะสามารถสรุปได้อย่างน้อย 1 แห่งในปีนี้ ซึ่งรูปแบบการระดมทุนเป็นแบบเดิม คือ มาจากเงินทุน 1 ส่วน และอีก 3 ส่วนมาจากเงินกู้ โดยปกติบริษัทจะใช้แหล่งเงินกู้จากธนาคารพาณิชย์ในประเทศทั้งหมด
ด้านนายสมควร วัฒกีกุล ที่ปรึกษาและกรรมการ CKP และ ที่ปรึกษาคณะกรรมการ บริษัท เซาท์อีสท์ เอเชีย เอนเนอร์จี จำกัด (SEAN) ซึ่งเป็นบริษัทที่ CKP ถือหุ้นในสัดส่วน 56% กล่าวว่า โครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีใน สปป.ลาว มีความคืบหน้าของโครงการไปกว่า 43% แล้ว และจะแล้วเสร็จสมบูรณ์เริ่มผลิตไฟฟ้าได้ในปี 62 ตามกำหนดอย่างแน่นอน เพียงแต่งบลงทุนที่ใช้ในโครงการอาจจะเพิ่มขึ้นประมาณ 10% จากเดิมที่วางไว้ที่ 115,000 ล้านบาท เนื่องจากรัฐบาล สปป.ลาว ได้กำหนดรูปแบบการก่อสร้างเพิ่มเติมเข้ามาจากแผนเดิม
ทั้งนี้ งบลงทุนส่วนเกินดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาจัดหา โดยอาจขอวงเงินกู้เพิ่มเติม เชื่อว่าไม่น่ามีปัญหา เพราะผลตอบแทนการลงทุนที่บริษัทคาดว่าจะได้รับจากโครงการไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี จะอยู่ที่ประมาณ 12-13% และจะทำให้บริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมเพิ่มเป็น 2,160 เมกกะวัตต์ จากปัจจุบันที่ 755 เมกกะวัตต์
"ถ้าโครงการนี้มีการดีเลย์ออกไป 1 ปี จะทำให้บริษัทฯขาดทุน 3 หมื่นล้านบาทจากดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นและรายได้ที่ไม่ได้รับด้วย ตอนนี้ยืนยันว่าทำได้ตามเป้าในปี 2019...โครงการนี้จะจ่ายไฟให้กับ กฟผ.29 ปี โดยเป็นสัญญาผูกมัดแบบมีเงื่อนไข จึงไม่มีทางที่จะมีการเปลี่ยนแปลงราคาขายไฟได้ ตรงนี้ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์มหาศาล จะได้คุณภาพไฟที่ดีมาก ๆ...ไฟฟ้าในลาวมีความต้องการใช้ไม่มาก และมีส่วนเกินเหลือ ดังนั้น เชื่อว่าอย่างไรลาวก็ต้องขายไฟให้ไทยป แต่ราคาเท่าไรเวลานั้นหลัง 29 ปีเราไม่รู้"นายสมควร กล่าว
นายสมควร กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการพลังงานน้ำน้ำบากในลาว ซึ่งติดกับน้ำงึม 2 ขนาดกำลังการผลิต 160 เมกะวัตต์ งบลงทุนประมาณ 10,000-20,000 ล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี คาดว่าจะเริ่มได้ในปลายปีนี้หรืออย่างช้าต้นปีหน้า
อนึ่ง บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด(XPCL)เป็นบริษัทจำกัดตามกฎหมายแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว)เพื่อดำเนินการพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี บนแม่น้ำโขง ที่แขวงไซยะบุรี สปป.ลาว โดย XPCL ได้ลงนามในสัญญาสัมปทานโครงการไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีกับรัฐบาลแห่ง สปป.ลาว เป็นสัญญาลักษณะ Build-Own-Operate and Transfer(BOOT)คือ เป็นผู้สัมปทานในการออกแบบพัฒนาก่อสร้างและดำเนินการโครงการไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี เป็นระยะเวลา 29 ปี นับจากวันที่จ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ และจะส่งมอบโครงการให้แก่รัฐบาลแห่งสปป.ลาว เมื่อระยะเวลาสัมปทานสิ้นสุดลง เว้นแต่ได้รับการต่อขยายระยะเวลาสัมปทานออกไป
โครงการดังกล่าวเป็นแบบฝายน้ำล้นสร้างด้วยคอนกรีต ความสูงระดับน้ำ 28.5 เมตร ความยาวของตัวเขื่อน 820 เมตร ประตูระบายน้ำล้น 19x23 เมตร จำนวน 7 ช่อง ประตูระบายตะกอน 12x16 เมตร จำนวน 4 ช่อง กำลังผลิตไฟฟ้าสูงสุด 1,285 เมกะวัตต์ ผลิตได้ 7,370 กิกะวัตต์/ชั่วโมง