นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานธุรกิจธนาคารพาณิชย์ KKP เปิดเผยว่า ในปีนี้ธนาคารตั้งเป้าหมายสินเชื่อรวมเติบโต 6% ซึ่งจะเน้นเจาะกลุ่มสินเชื่อบรรษัทและสินเชื่อธุรกิจเป็นหลัก โดยจะเน้นในกลุ่มธุรกิจ SME ซึ่งทำให้เกิดการกระจายรายได้ของธนาคารที่ดีขึ้น เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนในระยะยาว
ในปีนี้ธนาคารจะเน้นกลยุทธ์ 3 ด้าน คือ 1.การพัฒนาช่องทางในการให้บริการ โดยเฉพาะสาขาซึ่งปัจจุบันมีทั้งสิ้น 86 แห่ง รวมทั้งเพิ่มช่องทางการบริการผ่านพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อให้ช่องทางการขายสมบูรณ์มากขึ้น 2.การเพิ่มพันธมิตรทางธุรกิจ ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารได้ลงนามในสัญญาธุรกิจ แบงก์แอสชัวรันส์กับบริษัทเจนเนอราลี่ ประกันชีวิต (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) โดยธนาคารจะเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตของเจนเนอราลี่ ไทยแลนด์แต่เพียงรายเดียวเป็นเวลา 15 ปี และ3.การเพิ่มผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้มีความหลากหลาย เช่น บัตรเคเค เอทีเอ็ม
ด้านนายชวลิต จินดาวณิค ประธานสายการเงินและงบประมาณ KKP กล่าวว่า ในปีนี้แนวโน้มของระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL)จะลดลงต่ำกว่าปีก่อนที่อยู่ในระดับ 5.5% หลังมีสัญญาณคุณภาพหนี้ของลูกค้ากลับมาดีขึ้นตามการฟื้นตัวของปัจจัยเศรษฐกิจภายในประเทศ ประกอบกับ พอร์ตสินเชื่อของธนาคารส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ในสัดส่วน 67% ได้รับอานิสงส์เชิงบวกจากราคาน้ำมันที่ลดลง ทำให้ลูกค้ามีความสามารถในการชำระหนี้เพิ่มขึ้น
นอกจากนั้น ธนาคารคาดว่าในปีนี้การตั้งสำรองเผื่อหนี้สูญจะลดลงต่ำกว่าปีก่อนที่ตั้งไว้ที่ 3.2 พันล้านบาท หลังจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่ดีขึ้นกว่าปีก่อน และคุณภาพสินเชื่อของธนาคารดีขึ้น รวมทั้ง ยอดสินเชื่อคงค้างของธนาคารในปีนี้มีแนวโน้มลดลงจากปีก่อนที่ 1.4-1.5 หมื่นล้านบาท เนื่องจากสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์รายใหม่ ซึ่งเป็นสัดส่วนสินเชื่อหลักยังทรงตัว และสินเชื่อคงค้างมีแนวโน้มลดลง เพราะเป็นสินเชื่อระยะสั้นที่มีการหมุนรอบที่ค่อนข้างเร็ว
ในส่วนของการขายรถยึดของธนาคารในปีนี้คาดว่าจะยังมีการขาดทุนต่อเนื่องจากปีก่อนที่ขาดทุน 2,047 ล้านบาท เนื่องจากราคาขายรถยนต์มือ 2 ยังคงตกต่ำอย่างต่อเนื่อง และยังไม่มีท่าทีจะฟื้นตัวขึ้น อย่างไรก็ตาม การขาดทุนจากการขายรถยึดจะเริ่มลดลงตามปริมาณรถยนต์ที่ขายลดลง
สำหรับผลประกอบการในปี 57 KKP มีกำไรสุทธิรวม 2.63 พันล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 40.3% ในส่วนของรายได้รวมอยู่ที่ 1.45 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 8.92 พันล้านบาท คิดเป็น 61% ของรายได้รวม และที่เหลือคือราบได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ 5.61 พันล้านบาท สำหรับธุรกิจธนาคารพาณิชย์มีเงินให้สินเชื่อ 1.84 แสนล้านบาท ลดลง 3.2% ตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL อยู่ที่ 5.6% เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 56 ที่อยู่ที่ 3.8%